ชิสุ (Shih Tzu) – ข้อมูลสายพันธ์ุ, ลักษณะนิสัย, วิธีการเลี้ยงดู

น้องหมาน้อยตากลมโต หน้าตาบ๊องแบ๊ว มีขนยาวสวย สง่างาม ขนาดหมากระเป๋าพกพาได้ พาไปเที่ยวไหนก็สะดวก แถมมีนิสัยเป็นมิตร ขี้เล่น และช่างประจบ ใครได้เล่นด้วยเป็นต้องอยากพาน้องกลับบ้านแน่นอน   วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับความน่ารักของน้องชิสุ ว่ามีนิสัยอย่างไร วิธีการเลี้ยงดู ต้นกำเนิดมาจากไหน รวมถึงวิธีการเลี้ยงและดูแลน้องชิสุให้แข็งแรง สุขภาพดี 

สำหรับใครที่อยากมีน้องชิสุไว้เป็นสมาชิกในครอบครัว  NongPets จะมาแนะนำวิธีการเลี้ยงดู และนิสัยใจคอว่าเหมาะกับเราหรือไม่ รวมไปถึงประวัติความเป็นมาของน้องว่ามาจากไหน ลองมาอ่านดูกัน

ต้นกำเนิดของชิสุ

ชิสุเป็นสุนัขเก่าแก่โบราณ และเป็นสุนัขของชนชั้นสูงในราชวงศ์จีน และมีการคาดเดาว่าชิสุนั้นมีต้นกำเนิดมาจากทิเบต โดยพระชาวทิเบตได้ผสมพันธุ์หมาให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับสิงโต เนื่องจากตามประวัติศาสตร์ของชาวทิเบตถือว่าสิงโตเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนา และชิสุในภาษาจีนแปล่วา สิงโต

ในอดีตชิสุเป็นหมาของชนชั้นสูง และยังเป็นสิ่งสูงค่าสำหรับประชาชนทั่วไป เพราะชิสุได้ถูกส่งเป็นเครื่องบรรณาการให้กับจักรพรรดิราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน  และเป็นที่รู้กันว่าพระนางซูสีไทเฮา ทรงโปรดการเลี้ยงหมามาก โดยมีหมาพันธุ์ปักกิ่ง ปั๊ก และชิสุ ที่ได้รับการดูแลอย่างดีจากพระองค์ อีกทั้งชิสุยังผสมพันธุ์กับสุนัขพันธุ์ปักกิ่งนิส เพื่อให้หน้าสั้นลงและเป็นพันธุ์ลาซาที่มีขนาดเล็กลง 

ในปี ค.ศ.1908  หลังจากพระนางซูสีไทเฮาสิ้นพระชนม์ ชิสุก็ได้กระจัดกระจายหายไป แต่ก็มีชิสุให้หลงเหลือไว้สำหรับผสมข้ามสายพันธุ์ และมีการขยายพันธุ์ไปทั่วโลก รวมไปถึงทวีปยุโรป และออสเตรเลียอีกด้วย จนเป็นที่นิยมเลี้ยงในปัจจุบัน

ลักษณะของชิสุ

ลักษณะทางกายภาพ

  • น้ำหนัก:  4.5 – 7.5 กิโลกรัม
  • ความสูง: 25 – 27  เซนติเมตร
  • สายพันธ์: สุนัขพันธุ์เล็ก (Lapdog)
  • ขน: ยาวสลวยตรง 
  • สีขน: มีหลากหลายสี (ดำล้วน, ขาว-ดำ, ขาวล้วน, ขาว-เทา หรือ ขาว-แดง)
  • ลักษณะเด่น: หน้าสั้น หูพับตกลง มีศรีษะกลมสมส่วน ปากสั้นและฟันล่างเกยฟันบน ดวงตาโดดเด่น หางม้วนขึ้นบนหลัง ท่าเดินยาวและเยื้องย่างเมื่อเทียบกับความเป็นสุนัขขนาดเล็ก
  • ช่วงชีวิต: มีอายุประมาณ 14 – 15  ปี

นิสัยและพฤติกรรมทั่วไป

ถึงเจ้าชิสุจะมีขนาดตัวเล็ก แต่น้องมีความกล้าหาญ ตื่นตัวตลอดเวลา และมีความสง่าอยู่ภายในตัว เดินย่างก้าวอย่างสง่าผ่าเผย น้องเป็นหมาที่รักความสะอาด เป็นมิตรกับทุกคน และชอบเล่นกิจกรรมกับเจ้าของ แถมยังเป็นหมาขี้ประจบ อยากให้เจ้าของเอาอกเอาใจตลอดเวลา แล้วก็ไม่ชอบถูกทิ้งไว้ในบ้านเพียงลำพังอีกด้วย

โดยปกติแล้วน้องชิสุเป็นหมานิ่งสงบ ดูเป็นหมาติสต์ๆ บางครั้งน้องอาจจะดื้อ ไม่เชื่อฟังเรา เพราะได้รับการเอาใจมากเกินไป น้องยังเป็นหมาที่เรียกร้องความสนใจ ชอบการฝึกฝนและเล่นกลต่างๆ เพื่อที่จะให้ตัวเองเป็นจุดสนใจ 

น้องชิสุไม่เหมาะที่จะเฝ้าบ้าน เพราะโดยนิสัยของน้องที่เป็นมิตรกับทุกคน น้องยังชอบวิ่งและรักความสนุก เจ้าของควรพาน้องไปทำกิจกรรมหรืออกกำลังกายเป็นบางครั้ง แต่ไม่ควรพาน้องทำกิจกรรมหนักๆเช่น พาไปปีนเขา และกิจกรรมเอ็กซ์ตรีมต่างๆ น้องเหมาะที่จะพาไปเดินชิวๆ วิ่งเล่นใกล้ๆบ้านมากกว่า และด้วยลักษณะทางกายภาพช่วงปากและจมูกที่สั้น ทำให้น้องไม่เอื้ออำนวยต่ออากาศร้อนชื้น การพาน้องพาไปอยู่ในสภาพอากาศแบบนั้นนานๆ อาจทำให้น้องเป็นลมแดดได้

วิธีการเลี้ยงและดูแลชิสุ

น้องชิสุต้องการความสนใจจากเจ้าของมาก และน้องชื่นชอบการอยูร่วมกับเจ้าของและอาจถูกตามใจได้ง่าย ดังนั้นผู้เลี้ยงต้องหมั่นใส่ใจดูแลน้องทั้งเรื่องการฝึกฝนน้องให้เชื่อฟัง การออกกำลังกาย การให้อาหารที่มีคุณภาพ และการดูแลกิจวัตรชีวิตประจำวันของน้อง 

Nongpets จะมาแนะนำวิธีการเลี้ยงดูและดูแล รวมไปถึงเรื่องสุขภาพ เพื่อให้น้องชิสุมีสุขภาพที่แข็งแรง และเจริญเติบโตเต็มวัย

วิธีการเลี้ยงดู

น้องชิสุเป็นหมาที่เลี้ยงง่าย และติดเจ้าของมาก บางครั้งถ้าถูกตามใจมากเกินไปอาจทำให้น้องดื้อรั้นและไม่เชื่อฟังบ้าง น้องเหมาะจะเป็นหมาที่เลี้ยงในบ้านมากกว่านอกบ้าน เพราะน้องไม่ใช่หมาที่ active ซักเท่าไหร่นัก แต่การพาน้องไปวิ่งเล่นนอกบ้านบางครั้งก็เป็นเรื่องที่ดี  

เจ้าชิสุไม่ค่อยชอบอากาศร้อนซักเท่าไหร่นัก น้องชอบอยู่ที่ที่อากาศเย็นสบาย ดังนั้นเจ้าของควรจะเลี้ยงน้องไว้ในห้องแอร์หรือเปิดพัดลมให้ไว้สักเครื่องไว้ก็ช่วยได้

หลายคนคงคิดว่าชิสุสามารถกระโดดจากที่สูงได้ แต่ความจริงแล้วไม่ควรให้น้องกระโดดจากที่สูง อย่างเช่น กระโดดขึ้น-ลงจากเตียงหรือเก้าอี้ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้มักทำให้เกิดอุบัติเหตุ และตอนที่เราอุ้มน้องควรระวังน้องกระโดดออกจากแขนเรา เพราะอาจทำให้น้องได้รับอาการบาดเจ็บได้

อาหารของชิสุ

 อาหารที่เหมาะกับน้องชิสุควรเป็นอาหารเม็ดมากกว่าอาหารกระป๋อง เพราะขนน้องยาว หากให้กินอาหารกระป๋องจะทำให้เลอะหนวดเครา ซึ่งเป็นที่สะสมของเชื้อโรค อีกทั้งถ้าให้อาหารกระป๋องต้องให้หมดในครั้งเดียวเพราะอาจจะเสี่ยงต่อสุขภาพของน้องชิสุได้ การให้อาหารปรุงเองก็ควรให้อาหารปริมาณที่พอเหมาะ และมีคุณภาพ และฝึกน้องไม่ให้กินพร่ำเพรื่อ เพื่อสุขภาพของชิสุเอง

ปริมาณอาหารที่แนะนำ: ควรให้อาหารเม็ดปริมาณ1/2-1 ถ้วยตวง วันละสองมื้อ 

หากน้องมีรูปร่างและน้ำหนักที่มากเกินไป เจ้าของควรควบคุมอาหารน้องด้วยการชั่งตวงอาหารแล้วให้อาหารเป็นมื้อ แทนการปล่อยอาหารไว้ในถ้วยทั้งวัน วิธีสังเกตว่าน้องอ้วนขึ้นหรือไม่ ดูได้จาก เราจะสามารถเห็นเอวของน้องได้ และทดสอบโดยใช้นิ้วมือคลำที่กระดูกสันหลังของน้องเบาๆ ถ้าเราคลำหากระดูกสันหลังไม่เจอ แสดงว่าน้องอ้วนขึ้น ต้องลดน้ำหนักน้องโดยด่วน เพราะอาจมีปัญหาสุขภาพตามมาได้ 

วิธีดูแลรักษาชิสุ

การดูแลรักษาความสะอาด

ควรอาบน้ำจะอาบเมื่อตอนจำเป็นเท่านั้น แต่การอาบน้ำให้น้องทุกวัน จะช่วยป้องกันขนร่วงได้ด้วย

การรักษาความสะอาดในช่องปาก ควรแปรงฟันให้น้องอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อเป้นการกำจัดหินปูน และแบคทีเรียในช่องปาก การแปรงฟันให้น้องทุกวันก็จะสามารถป้องกันโรคเหงือก และกลิ่นปากได้ 

การตัดแต่งเล็บ ควรตัดเล็บให้น้องเดือนละ 1-2 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บและปัญหาอื่นๆที่ตามมา

การดูแลรักษาขนของชิสุ

การดูรักษาขนของน้องชุสินั้นควรจะแปรงและหวีขนน้องทุกวันเพื่อป้องกันขนพันกัน และวิธีการแปรงขนให้น้อง แนะนำให้แปรงไปในทางเดียวกันและแปรงไปจนถึงชั้นผิว ในขณะที่แปรงขนนั้นควรฝึกให้น้องนอนตะแคงเพื่อให้ง่ายต่อการแปรงและน้องชิสุของเราก็จะสบายตัวอีกด้วย

สุขภาพของชิสุ

โดยทั่วไปแล้ว ชิสุเป็นหมาสุขภาพดี แต่ผู้เลี้ยงควรหมั่นเช็คสุขภาพของน้องเป็นประจำ และทำความเข้าใจโรคต่างๆที่มักอาจเกิดกับน้องได้ มีดังนี้

  1. Canine hip dysplasia โรคสะโพกเจริญผิดปกติ
  2. Patellar luxation โรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัข
  3. Juvenile renal dysplasia (JRD) โรคนิ่วไต
  4. Bladder stones and bladder infections โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ
  5. โรคตาแห้ง
  6. โรคหูน้ำหนวก
  7. Umbilical hernias โรคไส้เลื่อน
  8. Snuffles โรคโพรงจมูกอักเสบมีน้ำมูกเรื้อรัง
  9. Reverse sneezing โรคอักเสบบริเวณผิวของทางเดินหายใจส่วนต้น

ชิสุกับเด็กและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

น้องชิสุเป็นสมาชิกที่ดีในครอบครัว เพราะน้องสามารถเข้ากับเด็กๆและน้องหมาตัวอื่นๆได้ดีเนื่องจากน้องเป็นหมาที่เป็นมิตรกับทุกคนและสุภาพอ่อนน้อม แต่เราควรฝึกน้องตั้งแต่น้องยังเด็กๆ ถ้าเราไม่ได้ฝึกน้องไว้ตั้งแต่เนิ่นๆก็จะทำให้น้องเป็นหมาขี้อายและไม่สามารถเข้าสังคมได้หมือนกัน 

หลังจากที่ได้รู้จักเจ้าหมาน้อยตัวจิ๋วชิสุกันไปแล้ว ก็อาจจะทำให้ใครหลายคนตกหลุมรักน้อง และอยากมีน้องไว้เป็นเพื่อน ถึงแม้ว่าน้องอาจจะดื้อรั้นและไม่เชื่อฟังไปบ้าง แต่ถ้าน้องได้รับการฝึกฝนตั้งแต่เนิ่นๆ น้องชิสุก็จะเป็นหมาที่น่ารักและเป็นเพื่อนคลายเหงาของเราได้

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Show Buttons
Hide Buttons