เซนต์เบอร์นาร์ด

เซนต์เบอร์นาร์ด (Saint Bernard) – ข้อมูลสายพันธ์ุ, ลักษณะนิสัย, วิธีการเลี้ยงดู

มาถึงสุนัขอีกตัวที่มีขนาดตัวใหญ่น่าฟัด นั่นก็คือน้อง “เซนต์เบอร์นาร์ด” นั่นเอง น้องเป็นที่รู้จักในเรื่องของหมาผู้มีนิสัยน่ารัก, อ่อนโยน และมีความอดทน ในสมัยก่อนน้องถูกใช้ป้องกันอาณาเขตและได้ช่วยเหลือผู้คนที่หลงทางและได้รับบาดเจ็บระหว่างการเดินทางผ่านบริเวณช่องเขาอีกด้วย ปัจจุบันนี้นอกจากจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารักของหลายๆครอบครัวแล้วน้องก็ยังมีความสามารถในหลายๆด้าน เช่น เป็นสุนัขโชว์กระโดดลอดห่วง การเดินตามคำสั่ง แข่งขันสุนัขลากน้ำหนัก เป็นต้น ไปรู้จักกับต้นกำเนิดและวิธีเลี้ยงดูเจ้าเซนต์เบอร์นาร์ดกับ Nongpets กันเลย

ประวัติความเป็นมาของเซนต์เบอร์นาร์ด

สุนัขพันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ด มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เดียวกับสุนัขอีกหลายๆสายพันธุ์รวมไปถึง Bernese Mountain Dog, Entlebuch Cattle Dog, Appenzell Cattle Dog, และ Greater Swiss Mountain Dog

น้องเกิดจากสุนัขพันธุ์พื้นเมืองแถบเทือกเขาแอลป์ที่ถูกผสมข้ามสายพันธุ์กับสุนัขสายพันธุ์มาสทิฟฟ์ที่มากับกองทหารโรมัน ในยุคของจักรพรรดิออกัสตัส ช่วงปีคริสต์ศักราช 1000 สุนัขในสวิตเซอร์แลนด์และเทือกเขาแอลป์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน และเป็นที่รู้จักในชื่อง่ายๆ คือ “Talhund” (สุนัขหุบเขา) หรือ “Bauernhund” (สุนัขฟาร์ม)

ในปี 962 รองบาทหลวง Bernard de Menthon กับผู้ติดตามเดินทางผ่านช่องเขาอันตรายท่ีอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 8,000 ฟุตมาได้ ซึ่งถูกตั้งชื่อในภายหลังว่า ช่องเขาเซนต์เบอร์นาร์ด  ได้สร้างที่พักสำหรับนักเดินทางขึ้น พวกเขาใช้สุนัขในการป้องกันอาณาเขต และช่วยเหลือผู้คนที่หลงทางหรือประสบเหตุในช่องเขา ทำให้สายพันธุ์เกิดการพัฒนาให้มีความทนทานต่ออากาศที่หนาวเหน็บและมีลักษณะเหมาะสมกับการทำหน้าที่ค้นหาและช่วยชีวิต ช่วงศตวรรษที่ 3 นักบุญเซนต์ เบอร์นาร์ด ได้รับการยกย่องว่าช่วยชีวิตคนกว่า 2,000 คน และในช่วงปี 1800 มีน้องหมาชื่อ Barry ได้รับการยกย่องว่าช่วยค้นหาคนกว่า 40 ชีวิตและมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก  แต่ถึงแม้จะเป็นที่รู้จักแต่เจ้าหมาพันธุ์นี้ก็ยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ

ต่อมาในปี 1833 มีชายคนหนึ่ง ชื่อ แดเนียล วิลสัน เสนอว่าสุนัขพันธุ์นี้เหมือนเป็นสุนัขของท่านเซนต์ เบอร์นาร์ด และสุดท้ายก็กลายมาเป็นชื่อสายพันธุ์เมื่อ Swiss Kennel Club ได้ขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ในปี 1880 

เมื่อเจ้าเซนต์เบอร์นาร์ดเริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศอื่นๆ ลักษณะของน้องก็เริ่มเปลี่ยนไป เซนต์เบอร์นาร์ดในประเทศอื่นมีรูปร่างผอมกว่าและตัวสูงกว่า เป็นผลมาจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ในปี 1877 ที่ประชุมแห่งชาติเมืองซูริค จึงได้กำหนดมาตรฐานสายพันธุ์เป็นครั้งแรก

ปัจจุบันนี้เราสามารถเห็นน้องหมาเซนต์เบอร์นาร์ดเป็นสัตว์เลี้ยงอยู่ในบ้านคน, ในหน้าจอ และรายการโชว์สุนัขต่างๆ น้องยังคงเป็นเจ้าเซนต์เบอร์นาร์ดที่อยู่ในที่พำนักของนักบุญ เซนต์ เบอร์นาร์ด ในสวิตเซอร์แลนด์ เพียงแต่ไม่ต้องไปตามหาผู้คนแต่เหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนแห่งเรื่องราวในที่พำนักแห่งเทือกเขาแอลป์ที่น่าจดจำ

ลักษณะของเซนต์เบอร์นาร์ด

ลักษณะทางกายภาพ

  • ความสูง : เพศผู้ 71 – 76 เซนติเมตร เพศเมีย 66 – 71  เซนติเมตร
  • น้ำหนัก : เพศผู้ 63 – 81 กิโลกรัม เพศเมีย 54 – 63 กิโลกรัม
  • สายพันธุ์ : สุนัขใช้งาน
  • ขน : มีทั้งขนยาวและขนสั้น ขนยาวมีลักษณะเป็นลอนเล็กน้อย ขนสั้นจะเรียบลื่นและหนา     
  • สีขน : มีหลายสี เช่น แดงและขาว, น้ำตาลและขาว 
  • ลักษณะเด่น : ตาตก, หูพับลงโดยธรรมชาติ, ขนบริเวณหน้าคล้ายหน้ากากเป็นสีขาว, น้ำตาลเข้มไปถึงสีเหลือง  
  • ช่วงชีวิต: 8 -10 ปี

นิสัยและพฤติกรรมทั่วไป

น้องเซนต์เบอร์นาร์ด มีนิสัย เด็ดเดี่ยว ใจดี น่ารัก เรียบร้อย ด้วยความตัวใหญ่ที่ทำให้หลายๆคนกลัว แต่น้องไม่ได้น่ากลัวเลย น้องมีความเป็นมิตรมาก และน้องยังปกป้องสมาชิกทุกคนในครอบครัวได้ ถ้าน้องเห็นว่าใครกำลังตกอยู่ในอันตราย

นอกจากนี้น้องยังอ่อนโยน และมีความอดทน เวลาอยู่กับเด็กจะระมัดระวังเพื่อไม่ทำให้เด็กบาดเจ็บ น้องชอบเป็นที่สนใจแต่จะไม่เรียกร้องมากเกินไป มีความกระตือรือร้นที่จะเอาอกเอาใจเจ้าของ จึงทำให้การฝึกน้องนั้นง่ายกว่าสุนัขพันธุ์อื่น

เพราะน้องมีขนาดตัวที่ใหญ่ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเริ่มฝึกตั้งแต่น้องเป็นลูกสุนัข ในตอนที่ยังฝึกสอนได้ง่ายอยู่ น้องฉลาดและชอบทำให้เจ้าของพอใจ น้องไม่ควรก้าวร้าวนอกเสียจากตอนที่กำลังปกป้องคนในครอบครัวอยู่

วิธีการเลี้ยงและดูแลเซนต์เบอร์นาร์ด

  • เจ้าเซนต์เบอร์นาร์ดมีทั้งประเภทที่ขนที่ยาวและขนสั้น แต่ทั้งสองต้องการการดูแลที่เหมือนกัน การแปรงขนอาทิตย์ละ 1 ครั้ง จะช่วยกำจัดสิ่งสกปรกและเส้นขนให้หลุดออกมา ขนที่พันกันสามารถใช้แปรงสางขนหรือหวีที่เป็นโลหะช่วยได้ น้องจะผลัดขนปีละ 2 ครั้ง ช่วงนั้นเราต้องคอยแปรงขนให้ทุกวัน 
  • ถึงแม้ว่าน้องจะตัวใหญ่และมีแรงเยอะ แต่น้องต้องการออกกำลังกายแค่ระดับปานกลาง ประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินไกลๆหรือเล่นในสนามหญ้า ก็เพียงพอที่จะทำให้น้องสุขภาพดีและมีความสุขแล้ว หรือจะเป็นการไปเที่ยวพักผ่อนหรือตั้งแคมป์ เจ้าเซนต์เบอร์นาร์ดก็มีความสุขที่ได้ไปทำกิจกรรมร่วมกับเจ้าของด้วย
  • เซนต์เบอร์นาร์ดมีแนวโน้มที่จะหมดแรงเพราะความร้อนและเป็นฮีทสโตรคได้ หลีกเลี่ยงการให้น้องออกกำลังในช่วงที่มีอากาศร้อน และต้องแน่ใจว่ามีร่มเงาให้น้องหลบและมีน้ำสะอาดให้น้องกิน คอยระวังถ้าน้องมีอาการหายใจหอบ, เหงือกเป็นสีแดงเข้ม และหมดแรงหรือล้มลง
  • น้องเซนต์เบอร์นาร์ดที่ไม่ได้รับการฝึกอาจจะก่อความวุ่นวายในบ้านและลากเราลงข้างทางเพราะตื่นเต้นจัดที่ได้เจอผู้คน ดังนั้นการฝึกตั้งแต่น้องยังเด็กจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยฝึกด้วยบรรยากาศที่สนุกและผ่อนคลาย
  • น้องเซนต์เบอร์นาร์ดมีความเป็นมิตรโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่การได้เข้าสังคมตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัขจะช่วยให้น้องได้เรียนรู้การแสดงออกต่อสัตว์ตัวอื่นๆหรือคนแปลกหน้า จะเลือกการจ่ายเงินเพื่อให้น้องได้เข้าโรงเรียนฝึกสุนัข หรือฝึกเองที่บ้านวันละ 10 – 15 นาที ก็ได้
  • การฝึกให้น้องอยู่ในกรงก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เหล่าผู้เพาะพันธุ์สุนัขแนะนำ เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับคนที่ฝึกสุนัขเองที่บ้านที่จะช่วยให้ทั้งน้องหมาและสิ่งของในบ้านปลอดภัย ไม่ควรใช้กรงเพื่อการลงโทษ แต่ควรให้เป็นที่ที่น้องได้หลบหรือนอนพักแบบสบายๆมากกว่า 
  • อาหารของเซนต์เบอร์นาร์ด

อาหารที่จะให้น้องควรเป็นอาหารคุณภาพดี ที่ผลิตมาเพื่อสุนัขพันธุ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารที่เราทำปรุงเองก็ควรเหมาะสมกับช่วงวัยของน้อง ไม่ควรให้ขนมมากเกินไปเพราะจำทำให้น้องเป็นโรคอ้วนได้ ศึกษาว่าอาหารของมนุษย์อะไรบ้างที่น้องกินได้หรือกินไม่ได้

เจ้าเซนต์เบอร์นาร์ดในวัยเด็กนั้นน่ารักปุกปุย แต่มาพร้อมกับความกินจุและความเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะบิดหรือท้องอืดที่ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงของสุนัขพันธุ์นี้ ซึ่งวัยลูกสุนัขมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้จากโครงสร้างขอช่องอกที่ลึกและแคบ ดังนั้นเราต้องเอาใจใส่อย่างมากทั้งเวลาและวิธีการให้อาหารกับเจ้าลูกหมา

  • เวลาในการให้อาหาร

 ให้อาหารเจ้าเซนต์เบอร์นาร์ดในวัยลูกสุนัข 3 ครั้ง ต่อวัน แบ่งเป็นมื้อเช้า, กลางวัน และเย็น เพื่อป้องกันการท้องอืด อาหารที่น้องกินไม่หมดหลังจาก 15 หรือ 20 นาทีไปแล้วให้เททิ้ง อย่าวางอาหารทิ้งไว้ทั้งวันเพราะน้องอาจจะเวียนกินทั้งวัน วางอาหารน้องให้ห่างจากสุนัขหรือลูกสุนัขตัวอื่นๆ น้องจะได้ไม่รีบกินจนเร็วเกินไป ถ้าน้องมีอาการท้องอืด เช่น น้ำลายไหลออกมามากและมีท่าทางจะอาเจียนแต่ไม่มีอะไรออกมา ให้รีบพาไปหาสัตวแพทย์ทันที

  • ปริมาณอาหาร

ให้อาหารน้องวันละ 2 ถ้วย เมื่อโตขึ้นก็จะเพิ่มเป็น 4 ถ้วย น้องสามารถกินอาหารแห้งครึ่งหนึ่ง อาหารเปียกครึ่งหนึ่งได้ อาหารแบบแห้งจะไปขยายตัวในกระเพาะได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการให้อาหารแห้งเพียงอย่างเดียว มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญว่าถ้าอยากหลีกเลี่ยงอาการท้องอืด ควรให้น้องกินน้ำเพียงเล็กน้อยหลังจากกินอาหาร 

  • น้ำหนัก

ลูกสุนัขเซนต์เบอร์นาร์ดควรมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ สัตวแพทย์สามารถกำหนดน้ำหนักที่เหมาะสมของน้องแต่ละตัวได้ ลูกสุนัขที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมหรือข้อเข่าเสื่อม อาหารลูกสุนัขมีปริมาณแคลอรีสูงกว่าอาหารสุนัขโต เราสามารถเปลี่ยนไปให้อาหารสูตรสุนัขโตได้เมื่อน้องมีอายุ 6 เดือน เพื่อป้องกันโรคอ้วน

สุขภาพของเซนต์เบอร์นาร์ด

โรคที่มักเกิดกับเซนต์เบอร์นาร์ด ได้แก่

  1. โรคข้อสะโพกเสื่อม : Hip Dysplasia 
  2. โรคข้อศอกเสื่อม : Elbow Dysplasia 
  3. โรคหนังตาม้วนเข้าใน : Entropion 
  4. โรคลมชักในสุนัข : Epilepsy
  5. โรคกล้ามเนื้อหัวใจในสุนัข : Dilated Cardiomyopathy 
  6. โรคต้อกระจกในสุนัข : Cataracts
  7. อาการแพ้ต่างๆ : Allergies
  8. โรคกระเพาะบิด : Gastric dilatation-volvulus (GDV).  

เซนต์เบอร์นาร์ดกับเด็กและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

น้องเซนต์เบอร์นาร์ดใจดี, มีความอดทน และอ่อนโยน  สามารถอยู่กับเด็กได้ น้องจะเดินอย่างระมัดระวังเวลาอยู่ใกล้ๆเด็กหรือบางทีก็นอนเล่นด้วยกันอยู่บ่อยๆ น้องสามารถเข้ากับสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆได้ โดยเฉพาะสัตว์ที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่น้องเป็นลูกสุนัข แต่ต้องคอยดูแลเวลาน้องอยู่กับสุนัขที่ตัวเล็กกว่าหรือแมว เพราะน้องอาจจะเหยียบหรือนอนทับโดยไม่ได้ตั้งใจ

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Show Buttons
Hide Buttons