สุนัขพันธุ์ปักกิ่ง

ปักกิ่ง (Pekingese) – ข้อมูลสายพันธ์ุ, ลักษณะนิสัย, วิธีการเลี้ยงดู

วันนี้ Nongpets พามาเอาใจกับคนชอบสุนัขตัวเล็กที่มีบุคลลิก สวย เริ่ด เชิด หยิ่งอย่าง “น้องหมาพันธุ์ปักกิ่ง” มาให้ทุกคนได้รู้จักกัน น้องปักกิ่งนั้นเป็นสุนัขเก่าแก่ที่ถือกำเนิดบนแผ่นดินจีน และเป็นสุนัขชั้นสูงที่นิยมเลี้ยงในสมัยก่อน ด้วยลักษณะภายนอกที่ดูคล้ายสิงโต และยังมีความกล้าหาญ สง่างาม มั่นใจในตัวเองคล้ายๆสิงโตเช่นกัน ใครที่อยากรู้จักน้องให้มากกว่านี้ อย่ารอช้า รีบไปรู้จักน้องกันเถอะ

ประวัติความเป็นมาของสุนัขปักกิ่ง

ตามตำนานของจีนที่เล่าไว้ว่า มีสิงโตตัวหนึ่งหลงรักลิงจิ๋วมาร์โมเส็ท เพื่อจะได้ลงเอยกับลิงที่รัก เจ้าสิงโตไปอ้อนวอนต่อพระพุทธเจ้าให้ลดขนาดตัวของตน แต่ยังมีรูปร่างและนิสัยของสิงโตอยู่ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ยอมทำให้ และตั้งแต่นั้นมา ทายาทของเจ้าสิงโตและลิงจิ๋วก็ได้สืบเชื้อสายมาเป็นสุนัขฟูหลิน (Fu lin)  หรือสุนัขสิงโตแห่งประเทศจีน 

เรื่องที่เล่ามานี้ เป็นแค่เรื่องราวแฟนตาซี แต่จริงๆแล้ว น้องไม่ใช่ลูกหลานที่เกิดจากสิงโตกับลิงแน่นอน ต้นกำเนิดที่แท้จริงของน้องนั้นยังไม่มีใครรู้แน่ชัด น้องเป็นสุนัขสายพันธุ์โบราณ ผลการตรวจพิสูจน์ DNA ยืนยันว่าน้องเป็นหนึ่งในสายพันธุ์สุนัขที่เก่าแก่ที่สุด เชื่อกันว่าน้องมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินจีนมานานว่า 2,000 ปี ชื่อน้องมาจากเมืองหลวงของจีนว่า Peking (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Beijing)  น้องเคยเป็นสุนัขเลี้ยงของชนชั้นสูงใราชวงศ์จีน เหล่าสามัญชนในสมัยนั้นก็ยังต้องก้มคำนับให้กับเจ้าสุนัขสิงโตผู้ยิ่งใหญ่

น้องปักกิ่งถูกดูแลอย่างใกล้ชิดและไม่ให้ออกไปนอกพระราชวัง แต่น้องกลายเป็นที่สนใจของโลกตะวันตกจากสงครามฝิ่น ในปี 1860 เมื่อกองทหารของอังกฤษได้เข้าไปในพระราชวังหลวงหลังจากบุกเข้ามาในเมือง ทหารคนหนึ่งพบน้องหมาปักกิ่ง 5 ตัว กำลังปกป้องศพนายหญิง ซึ่งเธอยอมฆ่าตัวตายแทนการถูกจับตัวไป น้องหมากลายเป็นเหมือนรางวัลของสงครามครั้งนี้และถูกพาตัวไปที่ประเทศอังกฤษ 2 ตัว ถูกนำไปเป็นของขวัญให้กับดัชเชสแห่งเวลลิงตัน อีก 2 ตัว นำไปให้ท่านดยุคและดัชเชสแห่งริชมอนด์และกอร์ดอน ส่วนตัวสุดท้ายถูกนำไปให้พระราชินีวิคตอเรีย

จำนวนน้องที่เหลืออยู่มีน้อยมาก จนกระทั่งปี 1890 น้องปักกิ่งถูกลักลอบนำออกจากประเทศจีนมากขึ้น น้องหมาปักกิ่งชื่อ ปีเตอร์ เป็นสุนัขพันธุ์ปักกิ่งตัวแรกที่ได้ไปแสดงโชว์ในงาน British dog show ต่อมาในปี 1894 น้องหมาปักกิ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ Chinese Pug และ  Pekingese Spaniel และได้เกิดการก่อตั้งสมาคมสุนัขปักกิ่งขึ้นในปี 1904

ชื่อเสียงของน้องหมาปักกิ่งแผ่ข้ามแอตแลนติกไปถึงสหรัฐอเมริกา น้องหมาปักกิ่งตัวแรกที่ได้ขึ้นทะเบียนสายพันธุ์โดย the American Kennel Club ในปี 1906 ชื่อ Rascal และสมาคมสุนัขปักกิ่งในอเมริกาได้ตั้งขึ้นในปี 1909

ลักษณะของสุนัขปักกิ่ง

ลักษณะทางกายภาพ

  • ความสูง : 15 – 22 เซนติเมตร
  • น้ำหนัก : 3 – 6  กิโลกรัม
  • สายพันธุ์ : ทอย
  • ขน :  ขนยาว 2 ชั้น   
  • สีขน : มีหลายสีหรือมีลาย เช่น สีขาว, สีดำกับสีแทน,  สีน้ำตาลแกมเหลืองอ่อน หรือ สีแดงน้ำตาลอ่อน 
  • ลักษณะเด่น : จมูกสั้น หน้าสั้น ลำตัวค่อนข้างยาว
  • ช่วงชีวิต: 14 – 18 ปี

นิสัยและพฤติกรรมทั่วไป

ถึงน้องจะดูตัวเล็กน่ารัก น่าทะนุถนอม แต่จริงๆแล้วน้องเป็นสุนัขที่แข็งแรงและกล้าหาญมากกว่าที่เราคิด น้องมีท่าทางที่สง่างาม, ทะนงตน, มั่นใจ และ บางครั้งก็ดื้อดึงจะทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ ขณะเดียวกันก็มีน่ารักน่าเอ็นดู, ขี้ประจบ, ซื่อสัตย์ และปกป้องเจ้าของ

น้องจัดเป็นสุนัขสายพันธุ์ทอยเพราะขนาดตัวที่เล็กน่ารัก แต่ความจริงน้องค่อนข้างห่างไกลจากคำว่าน่ารัก, บอบบาง หรือ นุ่มนวล น้องเป็นตัวของตัวเอง มีความเชิดหยิ่งโดยธรรมชาติ แต่น้องก็น่ารักและสนุกสนานร่าเริงเมื่ออยู่กับเจ้าของ

สำหรับคนแปลกหน้าน้องจะเมินใส่หรือเข้าใกล้แบบเป็นกันเอง ก็ขึ้นอยู่กับว่าน้องรู้สึกกับคนเหล่านั้นแบบไหน น้องจะสุภาพกับแมวเพราะคิดว่าแมวมีฐานะสูงเท่าๆกัน  น้องสามารถปรับตัวเข้ากับทุกบ้านได้ ถ้านำน้องมาเลี้ยงปรับตัวตั้งแต่เล็ก น้องปักกิ่งที่ปกติอยู่แต่กับผู้ใหญ่จะไม่ค่อยชอบเด็ก แต่ถ้าเป็นเด็กที่เลี้ยงกับน้องมาตั้งแต่เป็นลูกสุนัขหรือน้องได้เจอหน้าบ่อยๆน้องก็จะคุ้นเคย

วิธีการเลี้ยงและดูแลสุนัขปักกิ่ง

  • ควรแปรงขนของน้องปักกิ่งทุกวัน หรือ อาทิตย์ละ 2 ครั้ง ฉีดขนด้วยน้ำหรือผลิตภัณฑ์บำรุงขนแล้วแปรงด้วยแปรงหมุดหรือแปรงขนหมู แปรงให้ถึงผิวหนังและคอยฉีดน้ำเพื่อป้องกันขนหลุดร่วง ในช่วงที่น้องผลัดขนให้ใช้แปรงขนลวดเพื่อกำจัดเส้นขนที่ร่วงออกไป การแปรงขนนอกจากจะเป็นการนำขนที่ตายแล้วออกไปยังช่วยให้เส้นขนได้เกิดใหม่อีกด้วย
  • การเล็มขนออกให้น้องจะช่วยให้การดูแลเส้นขนของน้องง่ายขึ้น เราอาจจะขอให้ช่างตัดขนช่วยเล็มขนตรงช่วงเท้าและขาออกจะได้ไม่เป็นที่สะสมของฝุ่นและสิ่งสกปรกมากเกินไป  
  • น้องเป็นสุนัขที่สามารถเลี้ยงอยู่ในอพาร์ทเมนต์หรือห้องพักได้ น้องชอบวิ่งเล่นแต่ก็ต้องมีพื้นที่ที่เอาไว้กั้นน้องเพราะน้องจะชอบสำรวจและเดินออกไปข้างนอก 
  • น้องชอบเดินเล่นโดยเฉพาะถ้าเราพาออกไปเดินเล่นแถวๆบ้าน ยิ่งถ้ามีเพื่อนๆปักกิ่งหรือสุนัขตัวอื่น น้องจะยิ่งสนุกและวิ่งไปรอบๆบ้าน
  • ไม่ควรปล่อยให้น้องอยู่นอกบ้าน เพราะจมูกน้องที่มีลักษณะสั้น ทำให้ไวต่ออากาศร้อน ดังนั้นควรเลี้ยงน้องอยู่ในบ้านและเปิดเครื่องปรับอากาศ
  • น้องค่อนข้างดื้อซนและฝึกยาก น้องจะไม่สนใจเมื่อถูกฝึกสอนหรือถูกดุ ควรหาวิธีฝึกน้องด้วยการให้รางวัลน้อง และหาวิธีสร้างแรงจูงใจให้น้องทำสิ่งต่างๆ
  • ทำความสะอาดใบหน้าและรอบๆดวงตาให้น้องทุกวันด้วยสำลีก้อนชุบน้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในบริเวณที่เป็นรอยพับรอยย่น ทุกครั้งที่น้องเปียกให้เราดูแลบริเวณร่องของรอยพับให้แห้งสนิท อย่าให้มีความชื้นหลงเหลืออยู่
  • อาบน้ำให้น้องเดือนละ 1 – 2 ครั้ง หรือตามที่เราสะดวก ใช้แชมพูสำหรับสุนัข หรือถ้าไม่อยากมานั่งเช็ดขนให้น้อง เราสามารถใช้แชมพูแบบแห้งสำหรับสุนัขได้
  • อาหารของสุนัขปักกิ่ง

น้ำหนักมาตรฐานที่เหมาะสมของน้องหมาปักกิ่งคือ 3 – 6 กิโลกรัม ถ้าน้องน้ำหนักมากกว่านี้จะทำให้มีปัญหาสุขภาพได้ เช่น บาดเจ็บตามข้อ และ อาการกระดูกทับเส้นประสาท มาตรฐานน้ำหนักนี้อาจจะมากไปสำหรับสุนัขพันธุ์เล็ก แต่ภายใต้ขนยาวสลวยน้องมีร่างกายที่เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ เรียกได้ว่าหนักกล้ามเนื้อนั่นเอง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรดูแลให้น้องมีน้ำหนักที่เหมาะสม

  • ปริมาณอาหารที่ควรให้

ควรให้อาหารน้อง ½ – 1 ถ้วย ต่อวัน แบ่งเป็นวันละ 2 มื้อ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับขนาดตัว, อายุ, กระบวนการดูดซึม และ ระดับกิจกรรมที่น้องทำ

  • สารอาหาร

น้องปักกิ่งต้องการอาหารที่มีโปรตีนสูง โดยเฉพาะในช่วงลูกสุนัขและวัยโต แนะนำอาหารที่มีส่วนผสมหลักอย่าง เนื้อหรือถั่วเหลือง และส่วนผสมยอดนิยมอีกอย่างหนึ่งในอาหารสัตว์ก็คือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ (เช่น เลือด, นม, ไข่) ซึ่งสุนัขย่อยง่ายกว่าอาหารที่ใช้พืชเป็นส่วนผสมหลัก

และเพื่อให้ขนของน้องมีสุขภาพดี อาหารควรประกอบไปด้วยไขมัน แต่อย่างไรก็ตามสัดส่วนของโปรตีนและไขมันในอาหารของสุนัขพันธุ์เล็กนั้นควรคำนวณมาให้เพียงพอ ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ถ้าไม่ทราบว่าจะแบ่งสัดส่วนอย่างไร ผู้เลี้ยงสามารถไปปรึกษาสัตวแพทย์ได้

  • อาหารแบบไหนที่ควรให้น้องปักกิ่ง

เราอาจจะต้องทดลองสักเล็กน้อยถึงจะรู้ว่าน้องชอบกินอาหารแบบไหน แต่อาหารที่ดีเมื่อน้องกินเข้าไปแล้วจะต้องขับถ่ายเป็นก้อน, ขนเป็นเงา และ มีน้ำหนักเหมาะสม

การให้อาหารแห้งนั้นมีข้อดีหลายอย่าง ทั้งประหยัดและจะทำให้น้องได้เคี้ยว ช่วยให้ฟันมีสุขภาพดี แต่น้องอาจจะไม่ค่อยชอบสักเท่าไหร่ ดังนั้นเราสามารถใส่อาหารกึ่งเหลวหรืออาหารกระป๋องเพิ่มให้นิดหน่อย ก็จะสามารถช่วยดึงดูดน้องได้ ข้อควรระวัง อาหารแบบกึ่งเหลวจะใส่น้ำตาลเป็นตัวถนอมอาหาร ดังนั้นควรให้ในปริมาณที่จำกัด

การให้อาหารแบบเปียก น้องไม่สามารถกัดแทะได้ ทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพฟัน นอกจากนี้ผู้เลี้ยงควรคำนึงถึงรคอ้วน ควรหลีกเลี่ยงการให้น้องกินเค้กหรือคุกกี้ ถึงแม้ว่าน้องจะส่งสายตาอ้อนวอนอยากทานแค่ไหนก็ตาม

สุขภาพของสุนัขปักกิ่ง

ปกติน้องปักกิ่งจะมีสุขภาพดี แต่ก็มีแนวโน้มจะมีปัญหาสุขภาพดังนี้  

  1. โรคสะบ้าเคลื่อน : Patellar Luxation 
  2. ปัญหาการหายใจในสุนัขพันธุ์หน้าสั้น : Brachycephalic Syndrome: 
  3. ต้อกระจก : Cataracts
  4. ปากแหว่งเพดานโหว่ในสุนัข : Cleft Palate
  5. ภาวะทองแดง (ภาวะที่ลูกอัณฑะไม่ลงมาในถุงอัณฑะ) : Cryptorchidism
  6. ขนตางอกผิดปกติ : Distichiasis
  7. ขนตางอกทิ่มในตา : Ectopic Cilia
  8. ภาวะหนังตาม้วนเข้าใน : Entropion
  9. อาการอักเสบบริเวณรอยพับรอยย่น : Fold Dermatitis 
  10. การมีน้ำในโพรงสมองมากกว่าปกติ : Hydrocephalus 
  11. ภาวะตาแห้ง : Keratoconjunctivitis Sicca
  12. โรคลิ้นหัวใจเสื่อม : Mitral Valve Disease 
  13. จอประสาทตาเสื่อม : Progressive Retinal Atrophy (PRA)
  14. การเปิดเผยของตาดำเนื่องจากตาปิดไม่สนิทเวลาหลับตา : Exposure              Keratopathy Syndrome 
  15. หมอนรองะดูกทับไขสันหลัง : Intervertebral Disk Disease 

สุนัขปักกิ่งกับเด็กและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

น้องไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีสักเท่าไหร่นักสำหรับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก เพราะเด็กบางคนชอบเล่นกับน้องแรงๆ ถ้าน้องถูกโดนกระทำน้องจะป้องกันตัวเองทันที 

น้องหมาปักกิ่งชอบอยู่กับหมาปักกิ่งด้วยกัน แต่ถ้าน้องได้ฝึกเข้าสังคมตั้งแต่เล็กก็สามารถเข้ากับสุนัขพันธุ์อื่นๆรวมไปถึงแมวได้เหมือนกัน และสามารถปกครองน้องหมาที่ตัวโตกว่าถึง 20 เท่า!!!

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Show Buttons
Hide Buttons