สุนัขบ็อกเซอร์

บ็อกเซอร์ (Boxer) – ข้อมูลสายพันธ์ุ, ลักษณะนิสัย, วิธีการเลี้ยงดู

มาถึงน้องหมาที่มีต้นกำเนิดที่เยอรมันอีกหนึ่งตัว อย่าง “บ็อกเซอร์”  น้องหมาที่มีนิสัยน่ารัก เป็นมิตร และใจดีกับเด็กๆ แถมยังมีพลังสูง ใครที่เป็นสายนักกีฬา สายเที่ยว ชอบทำกิจกรรมล่ะก็จะต้องถูกใจน้องพันธุ์นี้แน่นอน ไปรู้จักน้องกับ Nongpets พร้อมๆกันเถอะ

ประวัติความเป็นมาของบ็อกเซอร์

บรรพบุรุษของน้องบ็อกเซอร์คือ สุนัขสายพันธุ์เยอรมัน บูลเลนไบส์เซอร์ กับสุนัขพันธ์บูลด็อก โดยเจ้าบูลเลนไบส์เซอร์มักถูกใช้ในการล่าหมี, หมูป่า และกวาง เมื่อเวลาผ่านไปน้องไม่ได้ถูกใช้ในการล่าสัตว์อีกแล้ว แต่ถูกนำไปใช้เฝ้ายามและคุมฝูงวัวควายแทน น้องหมาบ็อกเซอร์ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้ ถูกพัฒนาสายพันธุ์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ชายชาวมิวนิคชื่อว่า จอร์จ อัลท์ ได้ผสมสุนัขพันธุ์บูลเลนไบส์เซอร์เพศเมีย สี brindle (ลายเสือ) กับสุนัขพื้นเมืองที่ไม่ทราบต้นกำเนิด ลูกที่ออกมาเป็นสีน้ำตาลอ่อนกับสีขาว เพศผู้ตัวหนึ่งถูกตั้งชื่อว่า Lechner’s Box จึงกลายเป็นความเชื่อที่ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของสายพันธุ์สุนัขบ็อกเซอร์ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

เจ้า Lechner’s Box มีพี่น้องร่วมคอกเพศเมียอยู่ ชื่อว่า Schecken ซึ่งเธอได้ถูกบันทึกว่าเป็น Bierboxer หรือ บูลเลนไบส์เซอร์แบบสมัยใหม่ น้อง Schecken ถูกนำไปผสมกับสุนัขพันธุ์อิงลิชบูลด็อก มีลูกออกมาชื่อ Flocki ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสุนัขบ็อกเซอร์ตัวแรกที่ได้อยู่ในหนังสือบันทึกเชื้อสายของเยอรมัน หลังจากชนะการแข่งขันในงานมิวนิค โชว์ ที่ได้จัดการแข่งขันพิเศษสำหรับสุนัขบ็อกเซอร์

พี่สาวของ Flocki ได้ผสมพันธุ์กับ Piccolo von Angertor ซึ่งเป็นหลานของ Lechner’s Box หนึ่งในลูกสุนัขออกมาเป็นสีขาว เพศเมีย ชื่อ Meta von der Passage แม้แต่ในภาพถ่ายก็เห็นได้ชัดว่าเธอมีลักษณะที่เหมือนกับบ็อกเซอร์ในปัจจุบัน

ในปี 1894 ชาวเยอรมันสามคนชื่อ โรเบิร์ต, โคนิก และ ฮอปเนอร์ อยากจะให้สายพันธุ์นี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นพวกเขาจึงนำน้องไปโชว์ที่งานแสดงสุนัข และบ็อกเซอร์ก็เป็นที่รู้จักในวงกว้างภายในปี 1895 และในปีต่อมาพวกเขาได้ก่อตั้งสมาคมบ็อกเซอร์ขึ้น

น้องเริ่มเป็นที่รู้จักในส่วนอื่นๆของยุโรปช่วงปลายปี 1890 ต่อมาช่วงปี 1903 น้องบ็อกเซอร์ตัวแรกถูกนำเข้าไปในอเมริกา และได้ขึ้นทะเบียนโดย American Kennel Club ในปี 1904 

เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มขึ้น น้องถูกนำไปช่วยงานในกองทัพ เช่น ส่งจดหมาย, แบกของ และอารักขา น้องเริ่มเป็นที่รู้จักในอเมริกาช่วงปี 1940 เมื่อทหารที่กลับมาจากการรบในสงครามโลกครั้งที่สองนำเครื่องรางรูปน้องหมาบ็อกเซอร์กลับมาด้วย ทำให้ผู้คนรู้จักน้องมากขึ้นและกลายเป็นสัตว์เลี้ยง, สุนัขโชว์ และสุนัขเฝ้าบ้านอย่างรวดเร็ว

ลักษณะของสุนัขบ็อกเซอร์

ลักษณะทางกายภาพ

  • ความสูง : เพศผู้ 57 – 63 เซนติเมตร, เพศเมีย 53 – 59 เซนติเมตร
  • น้ำหนัก : เพศผู้ 30 – 32  กิโลกรัม, เพศเมีย 25 – 27 กิโลกรัม
  • สายพันธุ์ : สุนัขใช้งาน
  • ขน :  ขนสั้น นุ่ม เป็นเงา
  • สีขน : มีสองสี คือ สีน้ำตาลแกมเหลือง และ ลายเสือ ซึ่งจะมีหรือไม่มีลายจุดก็ได้ โดยสีน้ำตาลจะมีตั้งแต่เฉด light tan ไปจนถึง mahogany ส่วนลายเสือเป็นลายสีดำ มีสีน้ำตาลเป็นสีพื้น
  • ลักษณะเด่น: เป็นสุนัขขนาดกลาง ขากรรไกรล่างยื่น  ปลายจมูกยกสูง บริเวณรอบปากจะมีสีเข้ม
  • ช่วงชีวิต: 10 -12 ปี

นิสัยและพฤติกรรมทั่วไป

น้องเป็นสุนัขเฝ้าบ้านที่กระตือรือร้นและมีความระมัดระวัง น้องมีนิสัยขี้เล่น ชอบเป็นตัวตลกให้ใครหลายคนหัวเราะ แต่เวลาที่น้จริงจัง น้องจะเป็นสุนัขที่สง่างามและมั่นใจในตัวเอง เวลาอยู่กับเด็ก น้องจะเป็นมิตรและมีความอดทน นอกจากนี้น้องจะระมัดระวังเมื่อเจอคนแปลกหน้า แต่คนที่เป็นมิตรน้องก็จะสุภาพด้วย น้องจะแสดงความดุร้ายแค่ตอนที่ปกป้องครอบครัวและบ้านของน้องเท่านั้น

นิสัยและอารมณ์ของน้องเกิดจากอิทธิพลของปัจจัยต่างๆ รวมทั้งการถ่ายทอดทางพันธุกรรม, การฝึกฝน, และการขัดเกลาทางสังคม ลูกสุนัขที่อารมณ์ดีจะอยากรู้อยากเห็น,ขี้เล่น, ชอบทำให้คนพอใจและได้รับกอดจากคนเหล่านั้น การได้พบกับพ่อแม่ของลูกสุนัข, พี่น้อง หรือสุนัขตัวอื่นที่มีสายเลือดที่เกี่ยวข้องกัน จะช่วยให้เรารู้ว่าน้องจะมีนิสัยแบบไหนเมื่อโตขึ้น แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ 100%

วิธีการเลี้ยงและดูแลสุนัขบ็อกเซอร์

  • น้องเหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่สวนหรือสนามหญ้า เพื่อให้น้องได้เล่นอย่างปลอดภัยและเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพราะน้องเป็นสุนัขที่มีพลังงานเยอะ การได้เล่นเพื่อปลดปล่อยพลังจะทำให้น้องมีความสุขและอารมณ์ดี
  • ถึงแม้น้องจะตัวค่อนข้างโต แต่น้องก็ไม่ควรถูกเลี้ยงไว้นอกบ้าน เพราะขนและจมูกที่สั้นจึงทำให้น้องไม่เหมาะกับการเผชิญสภาพอากาศที่ร้อนและเย็น
  • น้องเป็นสุนัขที่มีพลังงานเยอะ และต้องการการออกกำลังกายเยอะเช่นกัน  เราควรมีเวลาที่จะเล่นกับน้องหรือพาน้องไปเดินออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 30นาที – 1 ชั่วโมง อาจจะเป็นการพาน้องไปเดินทางไกลหรือเล่นขว้างบอล การออกกำลังกายจะช่วยให้น้องอารมณ์ดีและมีพฤติกรรมที่ดี
  • น้องเป็นสุนัขที่สะอาดและชอบดูแลขนตัวเองเหมือนกับแมว มีขนร่วงเพียงเล็กน้อย ดังนั้นการแปรงขนอาทิตย์ละครั้ง ด้วยแปรงขนแข็งหรือถุงมือยางแปรงขนก็จะช่วยควบคุมปริมาณขนที่หลุดร่วงได้  เราสามารถใช้ผ้าชามัวร์ถูได้ถ้าอยากเพิ่มความเงางามให้ขนของน้อง 
  • การฝึกเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับน้องบ็อกเซอร์ เพราะน้องตัวโตและแข็งแรง บางครั้งอาจเกิดอุบัติเหตุไปชนคนอื่นล้มบาดเจ็บได้ ถ้าน้องไม่ได้เรียนรู้ที่จะควบคุมพฤติกรรมของตัวเอง นิสัยของน้องจะชอบเล่นในการฝึก น้องจะสนุก, ตื่นเต้น และเป็นตัวก่อกวน ดังนั้นควรฝึกสอนน้องอย่างจริงจังตั้งแต่ยังเล็กและใช้การฝึกที่หนักแน่น, ยุติธรรมและคอยชื่นชมเมื่อน้องทำได้ดี โดยให้ขนมเป็นรางวัลก็ได้   

อาหารของบ็อกเซอร์

บ็อกเซอร์เป็นสุนัขขนาดกลางที่มีความแข็งแรงและกระตือรือร้น ดังนั้นอาหารของน้องควรเป็นอาหารคุณภาพดีและสามารถให้พลังงานเพียงพอ การให้อาหารเยอะเกินไปจะทำให้น้องอ้วนได้ การให้อาหาร 2 มื้อต่อวัน

สำหรับคนที่ไม่เคยเลี้ยงสุนัขมาก่อน อาจจะคิดว่าน้องเลี้ยงยาก แต่ถ้าเราเรียนรู้วิธีดูแลน้อง ก็จะพบว่าน้องเป็นเพื่อนที่ดีและเป็นมิตรมากๆ  สุนัขพันธุ์นี้มีพลังงานเยอะ ดังนั้นถ้าเราเป็นคนที่ชอบออกกำลังกาย ชอบออกไปทำกิจกรรม น้องจะเป็นคู่หูที่ดีมากทีเดียว นอกจากจะให้น้องได้ออกกำลังกายอย่างเพียงพอเพื่อให้สุขภาพดีแล้ว เราก็ต้องเลือกอาหารที่ให้พลังงานเพียงพอสำหรับร่างกายของน้อง น้องต้องการอาหารที่มีโปรตีนสูงเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรง วิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น แคลเซียม, ทอรีน, และ แอล-คาร์นิทีน เป็นต้น

  • เลือกอาหารแบบไหนดี

จำเอาไว้เสมอว่าน้องแพ้อาหารได้ง่าย เราจึงควรเลือกอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบของสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้บ่อยๆ เช่น ยีสต์, ถั่วเหลือง, ข้าวโพด และ ข้าวสาลี  รวมไปถึงระวังอาหารที่มีการใส่สีและสารปรุงแต่งรสชาติ และสารสังเคราะห์อื่นๆ นอกจากนี้น้องบางตัวยังแพ้โปรตีนที่มาจากไก่ หรือวัว ดังนั้นเรายิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกอาหารให้น้อง

  • ข้อแนะนำในการเลือกซื้ออาหาร

เวลาที่เราเลือกซื้ออาหารให้น้อง สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ คุณภาพของอาหาร  อย่าคิดแต่จะซื้ออาหารที่มีราคาถูก คุณภาพต่ำ ยิ่งถ้าน้องกินเข้าไปแล้วเกิดอาการแพ้ขึ้นมาก็ยิ่งวุ่นวายเข้าไปอีก ดังนั้นเวลาเลือกอาหารควรดูที่มีตรารับรองของ AAFCO และดูสารอาหารด้วย เลือกอันที่มีโปรตีนเป็นส่วนผสมอันดับแรก อาหารของน้องควรประกอบไปด้วยโปรตีนอย่างน้อย 20% – 30% และควรมีวิตามินและแร่ธาตุประกอบอยู่ด้วย

สุขภาพของสุนัขบ็อกเซอร์

ปัญหาสุขภาพที่มักเกิดขึ้นกับสุนัขพันธุ์นี้ ได้แก่

  1. Aortic Stenosis/Sub-Aortic Stenosis (AS/SAS) : การตีบแคบบริเวณลิ้นหัวใจ/ภาวะหลอดเลือดตีบตันส่วนล่างของเอออร์ตาในสุนัข
  2. Gastric Torsion : โรคกระเพาะบิด
  3. Boxer Cardiomyopathy (ARVC) : ภาวะหัวใจล้มเหลวในสุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์
  4. Colitis : ลำไส้ใหญ่อักเสบ
  5. Degenerative Myelopathy (DM) : โรคไขสันหลังหรือไขกระดูก
  6. Epilepsy : โรคลมชัก
  7. Cataracts : โรคต้อกระจก
  8. Hip Dysplasia : โรคข้อสะโพกเสื่อม
  9. Hypothyroidism : โรคไทรอยด์ในสุนัข
  10. Cancer : มะเร็ง
  11. Cutaneous Asthenia : ผิวหนังยืดย้วยเนื่องจากขาดคอลลาเจน
  12. Hives and allergies : อาการลมพิษและอาการแพ้ในสุนัข
  13. Corneal Ulcers : กระจกตาเป็นแผล
  14. Brachycephalic Obstructive Airway Syndrome : โรคระบบทางเดินหายใจผิดปกติ

บ็อกเซอร์กับเด็กและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

น้องเป็นสุนัขที่ใจดี เข้าได้กับเด็กทุกช่วงวัย ถ้าน้องถูกเลี้ยงมาอย่างถูกวิธีน้องจะมีความซื่อสัตย์มากและปกป้องคนในครอบครัว ดังนั้นบางครั้งที่เด็กๆพาเพื่อนมาเล่นที่บ้านผู้ใหญ่จึงควรอยู่ดูแลด้วย 

น้องเป็นที่รู้จักอยู่แล้วว่าสามารถเข้ากับสุนัขและสัตว์เลี้ยงอื่นๆได้ดี เราแทบจะไม่ได้เห็นน้องบ็อกเซอร์แสดงท่าทีดุร้ายใส่สัตว์อื่นเลยถ้าน้องได้ฝึกเข้าสังคมตั้งแต่ยังเล็ก แต่อย่างไรก็ตาม การแนะนำให้น้องรู้จักกับน้องหมาหรือสัตว์เลี้ยงอื่นภายในบ้าน เราควรอยู่ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงหรือสุนัขที่ตัวเล็กกว่า

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Show Buttons
Hide Buttons