German shepherd

เยอรมัน เชพเพิร์ด (German shepherd) – ข้อมูลสายพันธ์ุ, ลักษณะนิสัย, วิธีการเลี้ยงดู

เจ้าสุนัขหูตั้งสัญชาติเยอรมัน ที่มีชื่อเสียงในด้านความกล้าหาญ จงรักภักดี และสัญชาตญาณการปกป้อง ทั้งการเป็นสุนัขตำรวจ สุนัขนำทางคนตาบอด สุนัขอารักขา สุนัขช่วยในสงคราม สุนัขที่ช่วยตรวจจับระเบิดและยาเสพติด สุนัขช่วยค้นหาและช่วยชีวิต สุนัขสายโชว์ และที่โดดเด่นที่สุดคือ การเป็นสุนัขต้อนแกะ

NongPets จะพามาทำความรู้จักกับเจ้าสุนัขพันธุ์นี้ทั้งต้นกำเนิด ลักษณะนิสัย การดูแลที่ถูกต้อง เพื่อที่จะได้รู้จักน้องให้มากขึ้นและเลี้ยงดูให้น้องได้อยู่อย่างมีความสุข สุขภาพแข็งแรง  

ต้นกำเนิดของเยอรมัน เชพเพิร์ด

เยอรมัน เชพเพิร์ดจากประเทศเยอรมนี ค้นพบโดย อดีตร้อยเอกพลทหารม้าชื่อว่า แมกซ์ฟอนสเตฟานิตช์ (Max von Stephanitz) เป็นคนแรกที่ขยายพันธุ์เยอรมัน เชพเพิร์ดอย่างเป็นทางการ โดยในปี 1898 เขาได้ปลดเกษียณออกจากอาชีพทหารและได้เริ่มทดลองเพาะพันธุ์สุนัขพันธุ์นี้ขึ้นเพื่อใช้ในการต้อนแกะ 

จนวันหนึ่งในปี 1899 ร้อยเอกผู้นี้ได้ไปชมการแสดงสุนัข และมีสุนัขตัวหนึ่งที่ถูกใจเขามาก เขาซื้อมันมาทันที สุนัขตัวนี้มีชื่อว่า Horand von Grafrath ความแข็งแรงและเฉลียวฉลาดของสุนัขพันธุ์นี้ ทำให้เขาพึงพอใจเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นร้อยเอก Von Stephanitz  ก็ได้ก่อตั้งสมาคม Verein für Deutsche Schäferhunde หรือสมาคมแห่งสุนัข German Shepherd ขึ้น พร้อมยกย่องให้ Horand เป็นสุนัขตัวแรกของสายพันธุ์นี้ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสมาคมฯ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางของโปรแกรมการเพาะพันธุ์ ถึงแม้เขาจะตั้งใจสร้างพันธุ์สุนัขที่เอาไว้ใช้ต้อนฝูงแกะ

ต่อมาประเทศเยอรมนีได้เริ่มพัฒนาไปเป็นประเทศอุตสาหกรรม เขาเห็นว่าความต้องการที่จะเอาสุนัขไว้ใช้ในการต้อนฝูงแกะคงจะลดลง จึงตั้งใจและตัดสินใจจะให้สุนัขสายพันธุ์ที่เขาสร้างขึ้นได้ทำประโยชน์ต่อไปในด้านตำรวจและกองทัพแทน โดยในสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมัน เชพเพิร์ดได้ทำประโยชน์ในหลายๆด้าน เช่น เป็นสุนัขช่วยชีวิต, ขนลำเลียงอุปกรณ์ต่างๆ เฝ้ายามและลาดตระเวน 

สุนัขพันธุ์นี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อัลเซเชียน” ที่มาของชื่ออัลเซเชียนนั้น เนื่องจากคนอังกฤษเรียกตามแหล่งต้นกำเนิดสุนัข คือ ชายแดนระหว่างแคว้นอาลซัสและแคว้นลอแรน (Alsace-Lorraine) จึงเรียกสุนัข “เยอรมัน เชพเพิร์ด” ว่า “อัลเซเชียน” (Alsation หรือ Alsatian)

ลักษณะของเยอรมัน เชพเพิร์ด

ลักษณะทางกายภาพ

  • เพศผู้ : ความสูง 60 – 65 เซนติเมตร น้ำหนัก 30 – 40 กิโลกรัม
  • เพศเมีย : ความสูง 55 – 60 เซนติเมตร น้ำหนัก 22 – 32 กิโลกรัม
  • ขน: มีขน 2 ชั้น ขนชั้นในหนาและแน่น ขนชั้นนอกจะตรงและเป็นคลื่นเล็กน้อย ขนที่หัว หู ขาและเท้า จะสั้น 
  • สีขน: มีหลายสีและหลายรูปแบบ เช่น สีดำ และลายน้ำตาลหรือน้ำตาลแดง สีทอง  สีแทนและสีดำ หรือสีแดงและสีดำ 
  • ลักษณะเด่น: หูตั้งโดยธรรมชาติ
  • ช่วงชีวิต: มีอายุขัยเฉลี่ย 10 -12 ปี

นิสัยและพฤติกรรมทั่วไป

เยอรมัน เชพเพิร์ด น้องสามารถเข้ากับเด็กและสัตว์เลี้ยงตัวอื่นที่เลี้ยงมาด้วยกันได้ดี  แต่น้องจะไม่ไว้ใจคนแปลกหน้าสักเท่าไหร่ เพราะเนื่องจากสัญชาตญาณของสุนัขอารักขา แต่ถ้าน้องถ้ารู้จักคนๆนั้นดีแล้ว น้องจะมีความซื่อสัตย์เป็นอย่างมาก มีอัธยาศัยดี และ เป็นมิตรกับพวกเขา

และเมื่อน้องรู้สึกถูกคุกคามหรือถูกจู่โจม ด้วยสัญชาตญาณการปกป้องและความแข็งแรงของน้อง จึงทำให้น้องกลายเป็นสุนัขเฝ้าบ้านที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย

ความเฉลียวฉลาดและการเรียนรู้การฝึกอย่างรวดเร็วของน้อง ทำให้น้องสามารถทำงานได้แทบจะทุกอย่าง ตั้งแต่การเตือนคนหูหนวกว่ามีคนมากดกริ่งหน้าประตูบ้านไปจนถึงดมกลิ่นหาผู้ประสบภัยอีกด้วย

วิธีการเลี้ยงและดูแลเยอรมัน เชพเพิร์ด

เยอรมัน เชพเพิร์ดเป็นน้องหมาที่ตัวใหญ่ มีพลังเยอะ กระตือรือร้น ดังนั้นจึงต้องการการออกกำลังกายควบคู่ไปกับการฝึกวินัยเป็นประจำ เพื่อช่วยในการเผาผลาญพลังงาน ทำให้น้องไม่อ้วนและมีความมั่นคงทางอารมณ์ น้องจะได้ไม่ดุ หรือ มีพฤติกรรมก้าวร้าว

 – ฤดูการผลัดขนของเยอรมัน เชพเพิร์ดเกิดปีละ 2 ครั้ง และในระหว่างปีที่ไม่ใช่ฤดูกาลผลัดขนก็จะมีขนร่วงบ้าง ดังนั้นควรแปรงขนให้น้องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้งเพื่อควบคุมการผลัดขนและรักษาให้ขนมีสุขภาพดี

– ในตอนที่ยังเป็นลูกสุนัขน้องต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษในเรื่องอาหารและการออกกำลัง ในช่วงวัย 4 – 7 เดือน น้องจะโตเร็วมาก ทำให้มีโอกาสเกิดความผิดปกติของกระดูกได้ง่าย ดังนั้นการให้อาหารที่มีคุณภาพดี แคลลอรี่ต่ำจะทำให้น้องๆไม่โตเร็วจนเกินไป

– การอาบน้ำให้น้องเยอรมัน เชพเพิร์ดควรอาบแค่ตอนที่น้องสกปรก หรือตอนที่น้องอยากเล่นน้ำ การอาบน้ำบ่อยเกินไปจะทำให้น้ำมันบนผิวหนังของน้องหายไป และโดยปกติแล้วเจ้าเยอรมัน เชพเพิร์ด จะค่อนข้างสะอาดและไม่มีกลิ่นตัว

– ผู้เหมาะสมที่จะเลี้ยง เยอรมัน เชพเพิร์ด คือคนที่สามารถสั่งและควบคุมสุนัขของเขาได้ และในทางกลับกันก็ต้องให้ความเคารพในตัวสุนัขด้วยเราไม่ควรคาดหวังให้น้องเป็นสุนัขขี้อ้อน เราต้องมีเวลาให้เพื่อจะได้พาน้องไปออกกำลังกายหรือเล่นกับน้อง

สุขภาพของเยอรมัน เชพเพิร์ด

น้องเยอรมัน เชพเพิร์ดพันธุ์นี้มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอย่าง

  1. Elbow Dysplasia :  โรคข้อศอกเสื่อม
  2. Hip Dysplasia : โรคข้อสะโพกเสื่อม
  3. Gastric Dilatation-Volvulus : โรคกระเพาะอาหารบิด
  4. Degenerative Myelopathy : โรคของไขสันหลังหรือไขกระดูก
  5. Exocrine Pancreatic Insufficiency : โรคตับอ่อนบกพร่อง
  6. Allergies : โรคภูมิแพ้

และอาจพบปัญหาสุขภาพที่รุนแรงเล็กน้อย เช่น 

โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ, โรคมะเร็งชนิด Hemangiosarcoma, โรค Panosteitis, โรควอนวิลลิแบรนด์, โรคไขสันหลังเสื่อม, เนื้องอกร้าย, กระจกตาอักเสบเรื้อรัง, โรคผิวหนัง, ภูมิแพ้ผิวหนัง, , โรคต้อกระจก, ฝีบริเวณทวารหนัก ฯลฯ นอกจากนี้เยอรมัน เชพเพิร์ดยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคเชื้อราที่เกิดจากเชื้อราชนิด Aspergillus

เยอรมัน เชพเพิร์ดกับเด็กและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

ถ้าหากน้องได้รับการฝึกและเคยอยู่กับเด็กๆมาแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นลูกสุนัข น้องก็จะสามารถเป็นเพื่อนที่ดีกับเด็กๆได้เลยทีเดียว ถึงกับมีบางคนบอกว่าเจ้าเยอรมัน เชพเพิร์ดเป็นการผสมระหว่างพี่เลี้ยงเด็กกับตำรวจ เพราะมีทั้งความอ่อนโยนและสามารถปกป้องเด็กๆในครอบครัวได้

และด้วยความเป็นสุนัขที่ตัวใหญ่ อาจมีบางครั้งพลาดไปกระทบกระแทกเด็กน้อยที่กำลังหัดเดินหรือเด็กตัวเล็กๆโดยไม่ได้ตั้งใจ ด้วยความที่ธรรมชาติของน้องไม่ค่อยจะกระดิกหางแสดงความเป็นมิตรกับเด็กๆที่ไม่รู้จักสักเท่าไหร่ แต่โดยทั่วไปแล้วน้องเยอรมัน เชพเพิร์ดก็สามารถไว้ใจได้เลยว่าจะไม่ทำร้ายเด็กๆแน่นอน

เจ้าเยอรมัน เชพเพิร์ดสามารถอยู่ร่วมกับน้องหมาหรือสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆได้อย่างสงบสุข ตราบใดที่น้องได้ถูกฝึกฝนมาตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัข เพราะการสอนเยอรมัน เชพเพิร์ดที่โตแล้วให้รู้จักคุ้นเคยกับเจ้าของบ้านหรือสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆเป็นเรื่องยากกว่ามาก ถ้าหากน้องรู้สึกไม่คุ้นเคยกับสุนัขหรือแมวตัวอื่นๆ ดังนั้นก็มีความจำเป็นที่ผู้เลี้ยงจะต้องส่งน้องไปฝึก หรือจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกสุนัขมาช่วยเหลือ หรือขอคำปรึกษา หากน้องมีพฤติกรรมที่ไม่คุ้นกับเจ้าของหรือไม่สามารถอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงตัวอื่นในบ้านได้

ข้อควรจำ

การเลือกซื้อ เยอรมัน เชพเพิร์ดให้ดี ควรแน่ใจว่า ทั้งประวัติพ่อพันธุ์และประวัติแม่พันธุ์ของลูกสุนัขตัวนั้นผ่านการตรวจโรคข้อสะโพกอักเสบแล้ว ในสภาเยอรมัน เชพเพิร์ด ของออสเตรเลีย ยังมีหลักสูตรการปรับปรุงพันธุ์ที่จะช่วยกรองสุนัขเพศผู้ ที่เป็นโรคโลหิตจางและโรคข้อศอกอักเสบอีกด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Show Buttons
Hide Buttons