บาสเซ็ตฮาวด์

บาสเซ็ตฮาวด์(Basset Hound) – ข้อมูลสายพันธ์ุ, ลักษณะนิสัย, วิธีการเลี้ยงดู

ใครเห็นเป็นต้องสะดุดตากับน้องหมาที่มีลักษณะภายนอกที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ ตัวป้อม อุ้งเท้าใหญ่ ขาสั้น ผิวหน้าและตัวย้วย ใบหูยาว ตัวเตี้ยจนแทบจะติดพื้น แต่เคยมีดีกรีเป็นถึงนักล่ากระต่ายมาก่อนอย่างน้อง “บาสเซ็ตฮาวด์” น้องหมาที่มาจากฝรั่งเศส แถมยังเคยเป็นสุนัขที่ชนชั้นสูงของฝรั่งเศสเลี้ยงกันอีกด้วย วันนี้ Nongpets จะพาทุกคนไปรู้จักกับน้องให้มากขึ้น!

ประวัติความเป็นมาของบาสเซ็ตฮาวด์

น้องบาสเซ็ตฮาวด์มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส โดยคำว่า Basset ในภาษาฝรั่งเศสหมายความว่า “ต่ำ,ที่ต่ำ” และใช้ในการสื่อถึงระดับส่วนสูงของสุนัขพันธุ์นี้ด้วย 

น้องเป็นลูกหลานของสุนัขพันธุ์ St. Hubert Hound ซึ่งถือว่าเป็นบรรพบุรุษของสุนัขสายพันธุ์ฮาวด์ในปัจจุบันและน้องได้ถือกำเนิดขึ้น เพราะเกิดการกลายพันธุ์ในสายพันธุ์ St. Hubert ทำให้เกิดเป็นสุนัขขาสั้นหรือหมาแคระ น้องหมาแคระถูกเลี้ยงดูไว้เป็นของแปลกหายากและต่อมาก็ถูกผสมพันธุ์เพื่อใช้ในการล่ากระต่ายและกระต่ายป่าที่อยู่ใต้พุ่มไม้เตี้ยๆในป่าทึบ

บันทึกแรกที่ปรากฏชื่อของสายพันธุ์บาสเซ็ตฮาวด์ คือหนังสือภาพเกี่ยวกับการล่าสัตว์ที่เขียนโดย Jacques du Fouilloux ในปี 1585 จากรูปภาพทำให้เห็นว่าน้องในสมัยนั้นมีความคล้ายคลึงกับน้องบาสเซ็ตฮาวด์ในปัจจุบัน และเป็นที่รู้จักในชื่อพันธุ์ Basset Artésien Normand ของชาวฝรั่งเศสในปัจจุบัน

น้องได้รับความนิยมครั้งแรกจากชนชั้นสูงในฝรั่งเศส แต่หลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศสน้องได้กลายเป็นสุนัขล่าสัตว์ของสามัญชนทั่วๆไป ต่อมาน้องได้เข้าสู่ประเทศอังกฤษในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 โดยลอร์ดกอลเวย์ได้นำน้องหนึ่งคู่เข้ามาในอังกฤษเมื่อปี 1866 หลังจากนั้นในปี 1874 เซอร์เอเวอเรตต์  มิเล จิตรกรชาวอังกฤษได้นำน้องบาสเซ็ตฮาวด์ชื่อ โมเดลจากฝรั่งเศส เขาเริ่มทำให้สุนัขพันธุ์นี้เป็นที่รู้จักในอังกฤษและเริ่มทำการเพาะพันธุ์ในฟาร์มของตัวเอง เมื่อน้องบาสเซ็ตฮาวด์เริ่มเป็นที่รู้จักของสาธารณชนมากขึ้นในอังกฤษ ท่านเซอร์มิเลจึงถือว่าเป็น “father of the breed” ในอังกฤษ 

หลังจากนั้นในปี 1875 เขานำน้องไปโชว์ตัวครั้งแรกที่งานแสดงสุนัข และอีกครั้งในปี 1880 ที่งาน Wolverhampton ทำให้น้องบาสเซ็ตฮาวด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น และยิ่งได้รับความนิยมเข้าไปอีกเมื่อ อเล็กซานดร้า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ นำน้องไปเลี้ยงดูที่ฟาร์มในวัง ปี1882 หลังจากนั้นจึงได้เกิดสมาคมสุนัขบาสเซ็ตฮาวด์ขึ้นในปี 1884 ถึงแม้น้องจะเข้าสู่ประเทศอเมริกาในยุคล่าอาณานิคม แต่ก็ไม่ได้เป็นที่รู้จัก จนกระทั่งปี 1916 American Kennel Club ได้จดทะเบียนน้องสายพันธุ์นี้อย่างเป็นทางการ

ลักษณะของบาสเซ็ตฮาวด์

ลักษณะทางกายภาพ

  • ความสูง :  35 เซนติเมตร
  • น้ำหนัก : 22 – 30 กิโลกรัม
  • สายพันธุ์ : ฮาวด์
  • ขน :  ขนสั้น นุ่ม  
  • สีขน : สีทั่วไป คือ  ขนแบบสามสี (สีแทน, สีดำ, และสีขาว), ขนสีดำและสีขาว, ขนสีน้ำตาลและสีขาว, ขนสีแดงและสีขาว. สีขนที่พบเจอได้ยาก คือ สีเลมอนและสีขาว
  • ลักษณะเด่น: ใบหูพับลงขนาดใหญ่และยาว ผิวหนังหย่อนคล้อย ตัวใหญ่ ขาหนาใหญ่แต่สั้น
  • ช่วงชีวิต: 10 -12 ปี

นิสัยและพฤติกรรมทั่วไป

น้องบาสเซ็ตฮาวด์มีกิริยามารยาทดี สงบ เฉลียวฉลาด น้องสามารถเข้าได้กับทุกคน รวมถึงเด็กและสัตว์อื่นๆด้วย น้องมีประสาทการรับกลิ่นที่ดีซึ่งบางครั้งก็ทำให้น้องมีอาการตื่นเต้น น้องจะนิ่งๆเมื่ออยู่ในบ้านแต่ก็มีความตื่นตัวเพียงพอที่จะทำให้น้องเป็นสุนัขเฝ้าบ้านที่ดีได้ 

น้องมีความดื้อซนบ้างในเวลาฝึกเหมือนกับสุนัขสายพันธุ์ฮาวด์ตัวอื่นๆ และน้องจะทำได้ดีเมื่อได้รับการฝึกแบบมีของล่อใจ เช่น การให้ขนม หรืออาหารเป็นรางวัล น้องเป็นสุนัขที่ชอบอยู่เป็นฝูงและไม่ชอบถูกทิ้งให้อยู่ตัวเดียวตลอดทั้งวัน  

วิธีการเลี้ยงและดูแลบาสเซ็ตฮาวด์

  • น้องบาสเซ็ตฮาวด์เป็นสุนัขที่นิ่ง เงียบ  สามารถอยู่ได้ในบ้านหลังเล็กๆหรืออพาร์ทเมนต์ และควรให้น้องอยู่ในบ้านกับครอบครัว เพราะน้องไม่เหมาะกับการอยู่นอกบ้านในสภาพอากาศที่ร้อนหรือหนาวมากเกินไป
  • เมื่ออยู่ในบ้านน้องจะชอบนอนอยู่เฉยๆไม่ค่อยขยับตัวทำอะไร แต่น้องก็ชอบเดินระยะทางไกลและเดินวนไปเรื่อยๆ พร้อมๆกับการดมกลิ่นสำรวจ แต่อย่าปล่อยให้น้องนอนอืดทั้งวันเพราะสุนัขพันธุ์นี้มีแนวโน้มจะเป็นโรคอ้วนและน้ำหนักที่มากเกินไปจะส่งผลเสียต่อข้อต่อ  และเวลาที่น้องอยู่นอกบ้าน ควรให้น้องอยู่ในสนามหญ้าที่มีรั้วหรือใส่สายจูงเพราะน้องจะได้ไม่เดินไปไกลหรือหลงทางเมื่อเจอกลิ่นที่น้องสนใจ
  • ตอนที่น้องยังเป็นลูกสุนัขไม่ควรให้น้องกระโดดขึ้นลงบนเฟอร์นิเจอร์และเดินขึ้นลงบันได เพราะจะทำให้เกิดแรงกดที่ข้อต่ออย่างหนักทั้งขาหน้าและขาหลัง อย่างน้อยควรให้มีอายุถึง 1 ปีเสียก่อน และไม่ว่าน้องจะอายุเท่าไหร่เวลาที่น้องขึ้นลงรถ เราต้องคอยช่วยน้องเสมอ เพราะน้องกระโดดไม่เก่ง อาจจะหาบันไดขึ้นลงหรือทางลาดให้น้อง
  • บางครั้งน้องก็มีความเป็นตัวของตัวเอง อยากทำอะไรตามใจตัวเอง เราควรฝึกน้องด้วยการเสริมแรงทางบวก รวมถึงการให้ขนมเป็นรางวัลและการชื่นชม น้องที่ได้รับการฝึกด้วยความเข้มงวดหรือโหดร้ายจะยิ่งกลายเป็นสุนัขที่ดื้อและไม่ทำตามคำสั่ง และควรทำให้การฝึกน่าสนใจ เพราะน้องจะเลือกฟังถ้าสิ่งเหล่านั้นดูตื่นเต้นและน่าสนใจ
  • ขนที่สั้นของน้องทำให้ไม่เป็นที่รวมของสิ่งสกปรกและน้ำ นานๆครั้งจึงค่อยอาบน้ำให้น้องได้ การแปรงขนด้วยแปรงขนสัตว์, ผ้าหยาบ, หรือถุงมือแปรงขน อาทิตย์ละ 1 ครั้งจะช่วยให้ขนมีสุขภาพดี 
  • หูของน้องยาวมากๆและบางครั้งก็สัมผัสไปกับพื้น จึงทำให้สกปรกง่าย การติดเชื้อที่หูก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา เพราะใบหูที่ใหญ่และยาวทำให้อากาศถ่ายเทได้ไม่ดีภายในหูชั้นใน ดังนั้นเราควรทำความสะอาดหูให้น้องอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ด้วยวิธีที่ได้รับการแนะนำจากสัตวแพทย์ ส่วนหูด้านนอกเช็ดให้สะอาดด้วยผ้าเปียก เช็ดทำความสะอาดรอยพับย่นบนใบหน้าด้วยผ้าเปียกและเช็คดูว่าแห้งสนิททุกซอกทุกมุม สุดท้ายก็คือการตรวจดูอุ้งเท้าใหญ่ๆของน้องเพื่อหารอยถลอกตามซอกนิ้ว
  • อาหารของบาสเซ็ตฮาวด์

ควรให้อาหารน้องโดยแบ่งเป็นมื้อเล็กๆเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่จะเกิดตามา เพราะน้องเป็นสายพันธุ์ที่มีปัญหาสุขภาพค่อนข้างเยอะ เช่น น้ำหนักเกิน และท้องอืด แต่เราสามารถช่วยน้องได้โดยให้อาหารที่มีคุณภาพและแบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็กหลายๆมื้อ แทนการให้มื้อใหญ่เพียงมื้อเดียว และหลีกเลี่ยงการออกกำลังประมาณ 1 ชั่วโมงหลังการกินอาหารเพราะสามารถทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ คอยชั่งน้ำหนักน้องและปรับลดปริมาณอาหารเมื่อรู้สึกว่าน้องเริ่มหนักเกินไป

  • อาหารเม็ด DRY KIBBLE

น้องจะเติบโตได้อย่างดีเมื่อได้กินอาหารเม็ดที่มีคุณภาพ อุดมไปด้วยโปรตีน, คาร์โบไฮเดรต, ไขมัน และสารอาหารที่จำเป็นต่างๆ บาสเซ็ตฮาวด์มีแนวโน้มที่จะน้ำหนักขึ้นได้ง่าย ดังนั้นให้เช็คดูฉลากของอาหารว่ามีโปรตีนสูงและสารอาหารอื่นๆ เช่น ไฟเบอร์ หรือไม่ และในอาหารไม่ควรมีปริมาณของธัญพืช เช่น ข้าวโพด หรือข้าวสาลีเยอะเกินไป ธัญพืชเหล่านี้ช่วยเพิ่มแคลอรีและปริมาณให้กับอาหาร แต่ให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์น้อยมากกับสุนัข ปริมาณอาหารที่ควรให้น้องมักจะมีบอกอยู่บนฉลากอาหาร เวลาเรานำมาเทียบกับน้ำหนักของน้องหมาให้ยึดเอาปริมาณแนะนำที่น้อยที่สุด เพราะน้องพันธุ์นี้ชอบนั่งๆนอนๆไม่ค่อยเคลื่อนไหว

  • อาหารธรรมชาติ NATURAL DIETS

เจ้าของที่อยากให้น้องได้กินอาหารแบบธรรมชาติมักจะเลือกให้น้องกินแบบบาร์ฟ (BARF) ซึ่งย่อมาจากคำว่า Biologically Appropriate Raw Food หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Bones And Raw Food  ซึ่งก็คือการกินอาหารแบบดิบ เจ้าของบางคนเลือกให้น้องกินแบบนี้เพื่อให้มีความใกล้เคียงกับอาหารสุนัขตามตามธรรมชาติในป่า

อาหารบาร์ฟประกอบไปด้วยกระดูกหรือเนื้อดิบประมาณ 80% ที่เหลือจะเป็นผักและผลไม้ อาหารชนิดนี้ยากที่จะเตรียมให้มีความพอดี ดังนั้นจึงควรใส่วิตามินเสริมเสมอเพื่อให้น้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน เนื่องจากเป็นการให้เนื้อและกระดูกสัตว์ที่ดิบ ควรใช้เนื้อสัตว์เกรดเดียวกับที่เรากิน ต้องแช่แข็งเนื้อเอาไว้จนกว่าจะนำออกมาใช้ และต้องล้างมือ, อุปกรณ์ที่ใช้กับเนื้อ(เช่น มีด,จาน)รวมถึงโต๊ะ ให้ล้างด้วยน้ำร้อนหรือน้ำสบู่หลังจากที่เราเตรียมอาหารให้น้องหมาเสร็จแล้ว

  • ขนม TREATS

ขนมหรือทรีต สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการกินที่เสริมสร้างสุขภาพให้น้องบาสเซ็ตฮาวด์ได้ แต่เราจะต้องใส่ใจในชนิดและปริมาณของขนมที่ให้น้อง หลีกเลี่ยงขนมที่มีแคลอรีเยอะและสารอาหารน้อย เราสามารถให้น้องกินตับต้มสุก, เนื้อไก่หั่นเต๋า หรือ ขนมสำเร็จรูปที่มีแคลอรีต่ำได้

น้องบางตัวก็ชอบกินแครอท, แอปเปิ้ล หรือน้ำแข็งก้อนเป็นขนม ให้ลองทดสอบดูว่าน้องชอบกินขนมแบบไหน อย่าให้น้องกินช็อกโกแลต, หัวหอม, ถั่วแมคคาเดเมีย, ลูกเกด หรืออะโวคาโด้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพิษต่อสุนัขและสามารถทำให้น้องป่วย ยิ่งถ้ากินเยอะๆก็อาจจะทำให้น้องตายได้

  • โรคอ้วน OBESITY

ภาวะน้ำหนักเกินในน้องบาสเซ็ตฮาวด์เป็นปัญหาที่ร้ายแรง แม้แต่น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาเพียงเล็กน้อยก็สามารถส่งผลต่อหลัง, ขา, และสะโพกของน้องหมาได้ เพราะโครงสร้างกระดูกและพุงที่ใหญ่ของน้องบาสเซ็ตฮาวด์อาจจะลากไปกับพื้น ทำให้เป็นปัญหาใหญ่โดยเฉพาะกับน้องหมาตัวผู้เพราะนำไปสู่การเกิดแผลถลอกและติดเชื้อ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องควบคุมปริมาณอาหารเพื่อไม่ให้น้องๆต้องเผชิญกับความลำบากและทรมานจากภาวะน้ำหนักเกิน โดยการไม่ให้น้องกินขนมหรือเศษอาหารมากเกินไป

สุขภาพของบาสเซ็ตฮาวด์

ปกติแล้วน้องบาสเซ็ตฮาวด์จะมีสุขภาพดี แต่ก็เหมือนกับสุนัขหลายๆพันธุ์ที่อาจเกิดปัญหาสุขภาพได้ โรคที่ควรระวังได้แก่

  1. อาการกระเพาะบวมแก๊สและโรคกระเพาะบิด : Gastric Dilatation-Volvulus (GDV)
  2. โรควอนวิลลิแบรนด์ : Von Willebrand’s Disease 
  3. โรคกระดูกอักเสบ : Panosteitis 
  4. โรคต้อหิน : Glaucoma
  5. อาการแพ้ : Allergies 
  6. โรคสะบ้าเคลื่อน : Patellar Luxation
  7. โรคเลือดเป็นลิ่มช้า : Thrombopathia
  8. ปัญหาเกี่ยวกับหนังตาและขนตา : Eyelid and Eyelash Problems
  9. โรคหมอนรองกระดูก : Intervertebral Disc Disease
  10. การติดเชื้อที่หู : Ear Infections
  11. โรคอ้วน : Obesity
  12. โรคข้อสะโพกเสื่อม : Hip Dysplasia
  13. โรคเชอร์รี่อาย : Cherry Eye 

บาสเซ็ตฮาวด์กับเด็กและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

น้องรักเด็กและสามารถเข้ากับเด็กได้เป็นอย่างดี  แต่ก็ควรระวังเด็กๆขึ้นไปขี่น้องหมาหรือรังแกน้องหมาจนบาดเจ็บ ผู้ใหญ่ต้องคอยอยู่ดูแลเสมอและสอนเด็กให้เล่นกับน้องหมาอย่างถูกวิธี ส่วนสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆน้องก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะน้องเป็นสุนัขที่ชอบอยู่กับฝูง น้องจึงเข้ากับน้องหมาตัวอื่นๆได้รวมถึงน้องแมวด้วย 

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Show Buttons
Hide Buttons