ทิเบตัน มาสทิฟฟ์

ทิเบตัน มาสทิฟฟ์ (Tibetan Mastiff) – ข้อมูลสายพันธ์ุ, ลักษณะนิสัย, วิธีการเลี้ยงดู

น้องหมาสายพันธุ์เก่าแก่ที่มีความฉลาด ถูกใช้ดูแลฝูงสัตว์และเฝ้ายาม ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่โตและขนตรงคอที่ยาวดูคล้ายสิงโต ยิ่งทำให้เจ้าทิเบตัน มาสทิฟฟ์ดูน่าเกรงขาม และเคยเป็นน้องหมาที่มีราคาสูงมากๆจนเป็นที่ฮือฮาในไทยเมื่อหลายปีก่อน วันนี้มาทำความรู้จักกับน้องหมาไซส์ยักษ์ ที่ติดอันดับโลกกับ Nongpets กัน

ประวัติความเป็นมาของทิเบตัน มาสทิฟฟ์

น้องทิเบตัน มาสทิฟฟ์ มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศทิเบต เอกสารที่บันทึกเรื่องราวของน้องมีเพียงน้อยนิดและเป็นช่วงก่อนศตวรรษที่ 19 แต่เป็นที่เชื่อกันว่าน้องเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นหลายศตวรรษแล้วผลการตรวจพิสูจน์ DNA ทำให้เรารู้ว่าสุนัขสายพันธุ์มาสทิฟฟ์ ได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศทิเบต เมื่อประมาณ 5,000 ปี มาแล้ว น้องถูกพัฒนาสายพันธุ์เป็น 2 ประเภท คือ โทชี (Do-khyi) ที่เลี้ยงไว้ในหมู่บ้าน หรือเดินทางไปกับคนเลี้ยงแกะเร่ร่อน และใช้ดูแลฝูงสัตว์ และอีกประเภทหนึ่งที่ตัวใหญ่กว่า คือ ซังชี (Tsang-khyi) ที่มักถูกมอบให้วัดในทิเบต เพื่อใช้ปกป้องพระสงฆ์หรือลามะที่อาศัยอยู่ที่นั่น

ในปี 1847 สุนัขตัวแรกจากทิเบตได้ถูกนำเข้ามาในอังกฤษและถูกมอบให้กับพระราชินีวิกตอเรีย ในฐานะของขวัญจากท่านลอร์ดฮาร์ดิง ที่ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการในอินเดีย ต่อมาในปี 1873 England’s Kennel Club ได้ถูกจัดตั้งขึ้นและเจ้าทิเบตัน มาสทิฟฟ์ ได้ถูกบันทึกลงอย่างเป็นทางการในชื่อ “ทิเบตัน มาสทิฟฟ์” และทิ้งชื่อเก่าที่ถูกเรียกว่า “สุนัขตัวโตจากทิเบต” เอาไว้   

ในปี 1874 เจ้าชายแห่งเวลส์ หรือที่ต่อมากลายมาเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ได้นำเจ้าทิเบตัน มาสทิฟฟ์อีก 2 ตัว เข้ามาในอังกฤษและถูกโชว์ตัวที่ Alexandra Palace Show ตอนปี 1875 นอกจากนี้ ทิเบตัน มาสทิฟฟ์ ยังถูกนำเข้ามาในอังกฤษและยุโรปเป็นครั้งคราว จนเกิด สมาคมทิเบตัน มาสทิฟฟ์

สายพันธุ์นี้มีที่มาคล้ายๆกันในสหรัฐอเมริกา ปลายปี 1950 ทิเบตัน มาสทิฟฟ์ 2 ตัวได้ถูกมอบให้นายกรัฐมนตรี แต่น้องถูกนำไปที่ฟาร์มและหายไปจากสายตาของสาธารณชน จนกระทั่งปี 1970 ทิเบตัน มาสทิฟฟ์ หลายตัวถูกนำเข้ามาในสหรัฐฯอีกและถูกเลี้ยงดูโดยคนเลี้ยงที่ใส่ใจและทุ่มเท ทำให้น้องสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตได้ดีในประเทศที่มีสภาพอากาศหลากหลายอย่างสหรัฐฯ

ทิเบตัน มาสทิฟฟ์ ถูกยอมรับว่าเป็นสมาชิกของ American Kennel Club เมื่อไม่นานมานี้ โดยถูกจัดอยู่ในกลุ่มสุนัขใช้งาน ในเดือนมกราคม ปี 2007  ในปัจจุบัน เป็นรื่องยากที่จะพบทิเบตัน มาสทิฟฟ์พันธุ์แท้ในทิเบต แต่บางครั้งก็พบได้ เป็นน้องที่เดินทางมากับกองคาราวานหรือพ่อค้า และน้องที่คอยปกป้องดูแลฝูงสัตว์และบ้านเรือน

ลักษณะของทิเบตัน มาสทิฟฟ์

ลักษณะทางกายภาพ

  • ความสูง :  เพศผู้ 66 – 74  เซนติเมตร เพศเมีย 61 – 68 เซนติเมตร
  • น้ำหนัก : เพศผู้ 45 – 73 กิโลกรัม เพศเมีย 34 – 57 กิโลกรัม
  • สายพันธุ์ : สุนัขใช้งาน
  • ขน :  มีขน 2 ชั้น ค่อนข้างยาวและหนา ขนชั้นในมีเยอะและนุ่ม ขนชั้นนอกตรงและหยาบ ตัวผู้ขนจะเยอะกว่าตัวเมีย  มีเส้นขนบริเวณคอ หาง และขาด้านหลังที่ยาวเป็นพิเศษ
  • สีขน : ดำ น้ำตาล น้ำเงิน  เทา โดยมีหรือไม่มีจุดด่างก็ได้
  •  ช่วงชีวิต: 10 -14 ปี

นิสัยและพฤติกรรมทั่วไป

น้องทิเบตัน มาสทิฟฟ์ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง, หัวดื้อ น้องฉลาดมาก และมีอารมณ์อ่อนไหวคล้ายกับมนุษย์ น้องจึงอาจจะหงุดหงิดได้ถ้าเราตะคอกใส่หรือลงโทษลูก หรือเถียงกับคนรัก น้องมีความสุขที่ได้อยู่กับครอบครัวแต่จะไม่ขี้อ้อนประจบประแจง นอกจากนี้ น้องทิเบตัน มาสทิฟฟ์ยังมีความซื่อสัตย์และปกป้องครอบครัวอย่างมาก แต่น้องจะไม่สนใจหรือสงวนท่าทีกับคนแปลกหน้าสักเท่าไหร่

วิธีการเลี้ยงและดูแลทิเบตัน มาสทิฟฟ์

  • เจ้าทิเบตัน มาสทิฟฟ์ มีขนที่ยาว และหนาถึงสองชั้น ดังนั้นจึงควรแปรงขนให้ 2 – 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เพื่อให้เส้นขนที่ตายแล้วหลุดออกไปและให้ผิวหนังและขนมีสุขภาพดี น้องจะผลัดขนเพียงปีละครั้ง ซึ่งช่วงนั้นอาจจะต้องแปรงให้บ่อยขึ้น และน้องไม่ต้องการอาบน้ำบ่อยๆ
  • เจ้าทิเบตัน มาสทิฟฟ์ เป็นสุนัขที่ควรอาศัยอยู่ในบ้าน และบ้านนั้นควรมีสนามหญ้าขนาดใหญ่และรั้วที่แน่นหนาเพื่อให้น้องออกกำลังกาย พื้นที่สนามหญ้าเล็กๆนั้นไม่เพียงพอสำหรับสุนัขพันธุ์นี้
  • ขนที่หนาของน้องไม่เหมาะกับการอยู่ในที่ที่อากาศร้อนและชื้น ถึงแม้น้องจะทนสภาพอากาศที่ร้อนและแห้ง ในช่วงอากาศร้อนได้ ควรมีร่มเงาและน้ำสะอาดให้น้องเสมอ เมื่อน้องต้องอยู่นอกบ้าน
  • ควรให้น้องได้ออกกำลังกายอย่างน้อย 20 – 30 นาที ไม่ว่จะเป็นการเล่นในสนามหญ้าหรือเดินเล่น น้องจะสนุกมากขึ้นถ้าได้เล่นกับสุนัขตัวอื่น แต่ควรเป็นสุนัขที่มีขนาดใกล้เคียงกับน้อง
  • ลูกสุนัขทิเบตัน มาสทิฟฟ์ โตเร็วกว่าสุนัขพันธุ์ที่ตัวเล็กกว่า แต่ร่างกายน้องจะไม่พัฒนาเต็มที่จนกระทั่งอายุมากกว่า 1 ปี เพื่อป้องกันการทำลายกระดูก ควรจำกัดการออกกำลังกายให้น้องเลนอยู่ในสนามหญ้า และหลีกเลี่ยงการเดินระยะไกลนานๆจนกว่าน้องจะอายุ 1 ปี
  • เริ่มการฝึกตั้งแต่วันที่เราพาน้องมาที่บ้าน น้องทิเบตันฉลาดและเรียนรู้ได้เร็ว แต่การไม่เชื่อฟังและดื้อ หมายความว่าการฝึกที่เข้มงวดและเคร่งครัดนั้นไม่ได้ผลสักเท่าไหร่ ดังนั้นความอดทน,หนักแน่น และสม่ำเสมอ จะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างเรากับน้อง คอยมองหาพฤติกรรมที่ดีและให้รางวัลน้องแทนที่จะเอาแต่ลงโทษที่น้องทำผิด
  • การขัดเกลาทางสังคมเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับน้อง ให้น้องได้ฝึกเข้าสังคมตั้งแต่เป็นลูกสุนัขเป็นสิ่งที่ดี ไม่อย่างนั้นน้องอาจจะมีนิสัยชอบข่มสุนัขตัวอื่นหรือกลายเป็นน้องหมาที่หวงถิ่นหรือเจ้าของมากไปอีกด้วย ดังนั้นการพาน้องไปที่สาธารณะต่างๆที่ให้สุนัขเข้าได้หรือสวนสาธารณะ หรือการชวนคนมาที่บ้านในหลายๆโอกาส จะทำให้น้องเรียนรู้ว่าคนอื่นๆสามารถเข้ามาในพื้นที่ของเราและน้องได้ 
  • เจ้าทิเบตัน มาสทิฟฟ์ ที่ถูกทิ้งเอาไว้นอกบ้านตอนกลางคืน จะเห่าเพื่อให้เรารู้ว่ากำลังทำหน้าที่ปกป้องบ้านอยู่ ดังนั้นอย่าปล่อยน้องเอาไว้ข้างนอกตอนกลางคืน ในขณะที่ช่วงกลางวันน้องจะค่อนข้างเงียบ
  • อาหารของทิเบตัน มาสทิฟฟ์
  1. ให้เป็นอาหารแห้งเท่านั้น จะให้อาหารกระป๋องเพิ่มไปด้วยแค่ตอนที่น้องน้ำหนักน้อยเกินไปหรือสัตวแพทย์แนะนำให้เพิ่มเท่านั้น
  2. วางจานอาหารและน้ำให้สูง น้องจะได้ไม่ต้องโค้งตัวลงมากินอาหาร เพียงแค่ก้มหัวลงมาเล็กน้อยเท่านั้น เป็นการป้องกันอาการท้องอืดและกระเพาะบิด ซึ่งเป็นโรคที่มักเกิดกับสุนัขพันธุ์ใหญ่ และมีโอกาสเกิดในพันธุ์กลางและพันธุ์เล็กด้วย
  3. ปริมาณอาหารที่ควรให้ต่อวัน คือ 4 ถึง 6 ถ้วย หรทอมากกว่านั้น โดยอาหารที่ให้ต้องเป็นอาหารสุนัขคุณภาพดี ใน1วัน ควรให้อาหารน้อง 2 มื้อ และห้ามให้น้องออกกำลังกาย 1 ชั่วโมงก่อนกินอาหาร และ 1 ชั่วโมงหลังกินอาหาร 
  4. ปริมาณอาหารที่สุนัขโตกินจะขึ้นอยู่กับขนาดตัว, อายุ, โครงสร้างร่างกาย, การเผาผลาญ และกิจกรรมที่ทำ สุนัขก็เหมือนกับคนที่ไม่ได้กินอาหารในปริมาณที่เหมือนกัน แน่นอนว่าสุนัขที่วิ่งออกกำลังกายทุกวันต้องการอาหารมากกว่าสุนัขที่ไม่ได้ทำอะไร
  5. สารอาหารที่จำเป็นในอาหารของสุนัขพันธุ์ทิเบตัน มาสทิฟฟ์ คือ

โปรตีน : ในอาหารสุนัขควรมีโปรตีนอย่างน้อย 22%  และแหล่งโปรตีนจากอาหารอื่น เช่น ไก่, ปลา และไข่

ไขมัน : ควรมีในอาหารสุนัขอย่างน้อย  9%

  • สารอาหารที่จำเป็นเพิ่มเติม

ผัก : แครอท, มันเทศ, หัวผักกาดหวาน, ถั่ว, ขึ้นฉ่าย, ผักกาดหอม, พาร์ซลีย์, วอเตอร์เครส และ ผักโขม

ผลไม้ : แครนเบอรี่,บลูเบอร์รี่ และ แอปเปิ้ล

ธัญพืช : ข้าวบาร์เลย์ที่ถูกสีเป็นเม็ดกลมเล็กๆ, ข้าวกล้อง, ข้าวโอ๊ต และ เมล็ดแฟลกซ์

วิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ : วิตามินเอ, วิตามินบี12, วิตามินซี, วิตามินดี3, วิตามินอี, วิตามินเค, บีตา-แคโรทีน, สาหร่ายเคลป์อบแห้ง,ทอรีน, ไนอะซิน และ ไบโอติน

สุขภาพของทิเบตัน มาสทิฟฟ์

เจ้าทิเบตัน มาสทิฟฟ์ ปกติจะมีสุขภาพแข็งแรง แต่ก็สามารถป่วยเป็นโรคได้เหมือนสุนัขพันธุอื่นๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของต้องใส่ใจและคอยสังเกตสุนัขอยู่เสมอ  โรคเหล่านี้เป็นโรคที่ควรระวังในทิเบตัน มาสทิฟฟ์

  1. โรคข้อสะโพกอักเสบหรือข้อสะโพกเสื่อม : Canine Hip Dysplasia (CHD)
  2. ภาวะข้อศอกพัฒนาผิดปกติในสุนัข : Elbow Dysplasia
  3. โรคกระดูกอักเสบในสุนัข : Panosteitis 
  4. กระดูกอ่อนเกินและการเจริญของกระดูกแข็งที่ผิดปกติในสุนัข : Osteochondrosis Dissecans (OCD)
  5. Canine Inherited Demyelinative Neuropathy (CIDN) เป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่ง
  6. Autoimmune Hypothyroidism (Hashimoto’s disease) โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ

ทิเบตัน มาสทิฟฟ์กับเด็กและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

ทิเบตัน มาสทิฟฟ์เหมาะกับครอบครัวที่มีเด็กโต เพราะน้องตัวใหญ่เกินไปจนค่อนข้างจะไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่กับเด็กเล็ก น้องไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายเด็ก แต่ด้วยความตัวใหญ่อาจจะทำให้น้องชนเด็กจนล้มหรือเดินเหยียบเด็กได้

น้องตัวใหญ่เกินไปที่จะวิ่งไล่ หรือเล่นแรงๆกับเด็ก ดังนั้นต้องตั้งกฎกับเด็กว่าอย่าวิ่งใส่หรือกรี๊ดใส่หน้าน้องทิเบตัน มาสทิฟฟ์ เพราะเสียงและการกระทำจะไปกระตุ้นน้องได้ ในบางครั้งน้องจะรู้สึกว่าต้องปกป้องเด็กในครอบครัวของน้อง จากเด็กคนอื่นๆ โดยเฉพาะถ้าเด็กๆกำลังเล่นต่อสู้กันอยู่ ผู้ใหญ่จึงควรอยู่ดูแล น้องหมาจะได้รู้ว่ามีคนคอยดูอยู่

น้องทิเบตัน มาสทิฟฟ์เข้ากันได้ดีกับสุนัขตัวอื่นๆและแมว เมื่อน้องถูกเลี้ยงมาด้วยกัน ถ้าเป็นสุนัขวัยโต น้องอาจต้องการช่วงเวลาปรับตัวสักพักก่อนที่จะเต็มใจต้อนรับการมาถึงขอสุนัขอีกตัว

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Show Buttons
Hide Buttons