เกรทเดน

เกรทเดน (Great Dane) – ข้อมูลสายพันธ์ุ, ลักษณะนิสัย, วิธีการเลี้ยงดู

ถ้าพูดถึงสุนัขที่สูงที่สุดในโลก หนึ่งในนั้นที่ถูกจัดอันดับไปด้วยก็คือ “สุนัขพันธุ์เกรทเดน” น้องยังเป็นหนึ่งในสุนัขที่มีอัธยาศัยดี จากนิสัยที่อ่อนโยน สุภาพ มีขนมันเงาและรูปร่างสง่างามที่เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ เพราะความสวยงามบวกกับนิสัยที่เป็นมิตรของเจ้าเกรทเดน ผู้คนจึงเริ่มหามาเลี้ยงมากขึ้น และทำให้น้องได้อยู่ในอันดับที่ 24 ของสายพันธุ์สุนัขที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจาก American Kennel Club วันนี้มาทำความรู้จักเจ้าเกรทเดนให้มากขึ้นกับ Nongpets กันเลย

ประวัติความเป็นมาของเกรทเดน

ต้นกำเนิดของเกรทเดนนั้นมาจากประเทศเยอรมนีนั่นเอง สายพันธ์ุนี้มีอายุมากถึง 400 ปีเลยทีเดียว เชื่อกันว่าสุนัขพันธุ์นี้ถูกพาไปในส่วนต่างๆของโลกโดย ชาวแอสซีเรียน ที่ค้าขายแลกเปลี่ยนสุนัขของพวกเขากับชาวกรีกและโรมัน หลังจากนั้นชาวกรีกและโรมันก็ได้เอาสุนัขพันธุ์นี้ไปผสมกับสุนัขพันธุ์อื่นๆ บรรพบุรุษของอิงลิช มาสทิฟฟ์ ก็มีความเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาสายพันธุ์นี้เช่นกัน และบางคนเชื่อว่าเจ้าหมาพันธุ์ไอริช วูล์ฟฮาวน์ด หรือ ไอริช เกรย์ฮาวน์ด ก็มีความเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

แต่เดิมเจ้าเกรทเดนถูกเรียกว่า “Boar Hounds” เพราะว่า สุนัขพันธุ์นี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อล่าหมูป่า(Boars) หูของเจ้าหมาถูกตัดเพื่อป้องกันการโจมตีจากเขี้ยวหมูป่า ในศตวรรษที่ 16 ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “English Dogs.”

ปลายปี 1600 ชนชั้นสูงในเยอรมันหลายคนเริ่มหันมาเลี้ยงสุนัขที่ตัวใหญ่และสวยงาม และเรียกพวกหมาเหล่านั้นว่า “Kammerhunde (Chamber Dogs)” เจ้าหมาเหล่านั้นถูกเลี้ยงดูอย่างดีและใส่ปกเสื้อกำมะหยี่ 

ชื่อ “เกรทเดน” ปรากฏขึ้นในปี 1700 เมื่อนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสเดินทางไปที่ประเทศเดนมาร์กและเห็นเจ้า Boar Hound ที่ปราดเปรียวและเหมือนสุนัขเกรย์ฮาวน์ด เขาเรียกสุนัขตัวนั้นว่า Grand Danois ซึ่งกลายมาเป็นชื่อ “เกรท เดนิช(Great Danish)” ในที่สุด ส่วนสุนัขสายพันธุ์นี้ที่มีขนาดตัวใหญ่กว่าจะถูกเรียกว่า “เดนิช มาสทิฟฟ์(Danish Mastiffs)” และชื่อเหล่านั้นก็ถูกเรียกกันจนติดปาก แม้ว่าชาวเดนมาร์กจะไม่ได้เป็นผู้พัฒนาสายพันธุ์ก็ตาม 

ในปี1880 เหล่าผู้เพาะพันธุ์จัดประชุมที่กรุงเบอร์ลิน และเห็นพ้องกันว่าสุนัขที่พวกเขาพัฒนามาตลอดนั้นแตกต่างจากพันธุ์อิงลิช มาสทิฟฟ์อย่างชัดเจน จึงตั้งชื่อขึ้นมาว่า “Deutsche Dogge (German Dog)” หลายประเทศในยุโรปเริ่มรู้จักชื่อนี้ ยกเว้นชาวอิตาเลียนจะเรียกว่า Alano ที่มีความหมายว่า มาสทิฟฟ์ ส่วนอังกฤษเรียกว่า เกรทเดน

ปลายปี1800 เศรษฐีผู้เพาะพันธุ์สุนัขชาวเยอรมัน ได้ทำการปรับปรุงสายพันธุ์ต่อ โดยพวกเขาให้ความสนใจต่อนิสัยของสุนัขเป็นพิเศษ เพราะเกรทเดนมีนิสัยก้าวร้าว, ดุร้าย เนื่องจากมีต้นกำเนิดมาจากสุนัขล่าหมูป่า ที่มีความดุร้ายมาก พวกเขาพยายามทำให้สุนัขมีนิสัยอ่อนโยนมากขึ้น และโชคดีที่พวกเขาทำได้สำเร็จ

ลักษณะของเกรทเดน

ลักษณะทางกายภาพ

  • ความสูง : เพศผู้ 81 เซนติเมตร เพศเมีย 76 เซนติเมตร
  • น้ำหนัก : เพศผู้ 63 – 79 กิโลกรัม เพศเมีย 49 – 63 กิโลกรัม
  • สายพันธุ์ : สุนัขใช้งาน
  • ขน :  ขนสั้น มันเงา ราบไปกับตัว
  • สีขน : มีสีและลายที่หลากหลาย เช่น น้ำตาลแกมเหลืองอ่อน, น้ำเงิน, ดำ 
  • ลักษณะเด่น : หัวใหญ่แคบและแบนตรงด้านบน ปกติแล้วหูจะพับลงตามธรรมชาติ แต่บางตัวก็ถูกตัดหูเพื่อให้หูตั้งขึ้น มีลำคอที่ยาวและแข็งแรง มีช่วงลำตัวและขาที่ยาว 
  • ช่วงชีวิต: 6 – 8 ปี

นิสัยและพฤติกรรมทั่วไป

น้องเกรทเดนเป็นหมาตัวใหญ่ใจดี มีความอ่อนโยน สุภาพ น่ารัก ขี้อ้อน ชอบเล่นและอยู่กับเด็กได้สบายๆ และน้องสามารถเฝ้าบ้านได้อีกด้วย น้องจะชอบเอาอกเอาใจเจ้าของ จึงทำให้ง่ายที่จะฝึกน้อง

นอกจากนี้ น้องจะชอบไปอยู่กับผู้คนรวมไปถึงคนแปลกหน้าและเด็ก ถ้ามีคนมาที่บ้านน้องก็จะต้อนรับอย่างมีความสุข นอกเสียจากว่าน้องคิดว่าเรากำลังตกอยู่ในอันตราย น้องก็จะสามารถเป็นผู้ปกป้องที่แข็งแกร่งได้อย่างดี น้องบางตัวชอบคิดว่าตัวเองตัวเล็กนิดเดียว และจะพยายามขึ้นมานั่งอ้อนบนตัก เรียกร้องความสนใจ

วิธีการเลี้ยงและดูแลเกรทเดน

  • เจ้าเกรทเดนไม่เหมาะกับการเลี้ยงในอพาร์เมนต์หรือบ้านเล็กๆ เพราะน้องตัวใหญ่ ต้องการพื้นที่เยอะ โชคดีที่น้องไม่ชอบกระโดด รั้วบ้านสูงประมาณ 6 ฟุต ก็เพียงพอที่จะกั้นน้องได้แล้ว
  • น้องจะค่อนข้างเงียบเมื่ออยู่ในบ้าน แต่น้องต้องการออกกำลังกาย เช่นเดินหรือวิ่งเล่นอย่างน้อยวันละครั้ง เจ้าเกรทเดนวัยโตต้องการออกกำลังกายวันละ 30 – 60 นาที ส่วนวัยลูกสุนัขและวัยรุ่นต้องการออกกำลังกาย 90 นาทีต่อวัน
  • น้องขนร่วงเยอะ แต่ก็ง่ายที่จะดูแลเพียงแค่เราแปรงขนให้บ่อยๆเท่านั้น ใช้แปรงที่ขนสั้นและแข็ง การแปรงขนให้น้องเป็นประจำจะช่วยให้ขนของน้องสะอาดและสุขภาพดี และช่วยลดจำนวนครั้งในการอาบน้ำให้เหลือแค่เท่าที่จำเป็น
  • ต้องใช้เวลาสักพักกว่ากระดูกและข้อต่อของสุนัขพันธุ์ใหญ่อย่างเกรทเดนจะหยุดพัฒนาและคงที่ อย่าให้น้องกระโดดและอย่าเพิ่งพาน้องไปวิ่งเหยาะๆ จนกว่าน้องจะมีอายุอย่างน้อย 18 เดือน เพราะอาจสร้างความเสียหายต่อกระดูกและข้อต่อที่กำลังพัฒนาอยู่
  • การฝึกให้น้องอยู่ในกรงเป็นประโยชน์ต่อสุนัขทุกตัวรวมถึงเจ้าเกรทเดน เพราะช่วยให้เราแน่ใจได้ว่าน้องจะไม่ประสบอุบัติเหตุในบ้านหรือไปเล่นอะไรที่ไม่ควร 
  • กรงสำหรับน้องจะต้องสามารถเป็นที่ให้น้องสามารถใช้นอนหลับได้ด้วย การฝึกให้น้องอยู่ในกรงตั้งแต่เล็กจะช่วยให้น้องคุ้นชินกับการโดนกักขัง ถ้าน้องต้องถูกขนส่งหรือต้องอยู่ที่โรงพยาบาล
  • แต่ไม่ควรขังน้องไว้ในกรงทั้งวัน น้องควรใช้เวลาอยู่ในกรงไม่เกิน 2 – 3 ชั่วโมง ยกเว้นแค่ตอนที่น้องหลับในเวลากลางคืน เจ้าเกรทเดนเป็นสุนัขที่ชอบอยู่กับผู้คน น้องไม่ได้อยากจะใช้ชีวิตอยู่ในกรงขังหรือคอกตลอดเวลา
  • ให้น้องได้ฝึกเข้าสังคมตั้งแต่เล็ก ไม่ว่าจะพาน้องไปที่โรงเรียนฝึกสุนัขหรือพาน้องไปเจอผู้คน, ได้เห็น,ได้ฟัง และสำรวจสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย จะทำให้เรามั่นใจได้ว่าน้องจะเจริญเติบโตไปเป็นสุนัขที่ดีและเข้ากับคนอื่นๆได้
  • อาหารของเกรทเดน

การให้อาหารเกรทเดนวัยลูกสุนัข

กระดูกของน้องเกรทเดนจะถูกพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุ 18 เดือน อาหารที่มีปริมาณแคลเซียมหรือโปรตีนมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อกระดูกได้ สัตวแพทย์คือผู้ที่ให้คำปรึกษาที่ดีที่สุดในการเลือกอาหารที่เหมาะสมกับลูกสุนัขเกรทเดน ยิ่งเป็นแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสายพันธุ์เกรทเดนเป็นพิเศษก็ยิ่งดี ลูกสุนัขเกรทเดนไม่สามารถกินอาหารลูกสุนัขทั่วๆไปได้ น้องต้องการอาหารสำหรับลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่เท่านั้น เราต้องคอยดูการเติบโตของน้องตั้งแต่เล็กและคอยปรับการให้อาหารตามช่วงวัย

  • อายุ 3 – 6 เดือน ให้อาหาร 4 – 8 ถ้วยต่อวัน แบ่งเป็น 3 มื้อ
  • อายุ 8 – 12 เดือน  เพศผู้ ให้อาหาร 6 – 10 ถ้วยต่อวัน เพศเมีย 5 – 8 ถ้วยต่อวัน 
  • อายุ 1 – 2 ปี เป็นช่วงที่กินเยอะที่สุด เพศผู้ ให้อาหาร 9 – 15 ถ้วยต่อวัน เพศเมีย 8 ถ้วยต่อวัน

การให้อาหารเกรทเดนวัยโต

เจ้าเกรทเดนวัยโตต้องการพลังงานเฉลี่ย 2,500 แคลอรีต่อวัน เกรทเดนที่แก่กว่านี้ต้องการพลังงานน้อยกว่านี้เล็กน้อย ในขณะที่เกรทเดนที่ใช้ชีวิตแบบแอคทีฟจะต้องการพลังงานประมาณ 3,000 แคลอรีต่อวัน ในอาหารสุนัขจึงควรประกอบไปด้วย โปรตีน ไม่น้อยกว่า 23% และไขมัน 12% ปริมาณอาหารที่ควรได้รับ คือ 

  • เพศผู้ 8 – 10 ถ้วยต่อวัน เพศเมีย 6 – 8 ถ้วยต่อวัน แบ่งเป็น 3 มื้อ 

ควรตรวจสอบคุณภาพของอาหารก่อนที่จะซื้อไปให้น้องหมา ควรให้อาหารที่เป็นสูตรเฉพาะสำหรับสุนัขพันธุ์ใหญ่ เพราะสุนัขพันธุ์ใหญ่ส่วนมากต้องประสบกับปัญหาข้อต่อ ดังนั้นในอาหารจึงควรมีส่วนผสมของสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างข้อต่อ นอกจากนี้หลีกเลี่ยงการให้อาหารน้องทั้งวัน, อย่าให้ขนมเยอะและไม่ควรให้น้องกินเศษอาหาร เวลาให้อาหารควรวางจานไว้ที่ระดับหัวไหล่ของน้องเพื่อช่วยลดปัญหาด้านระบบย่อยอาหาร และควรรออย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนและหลังออกกำลังกาย จึงค่อยให้น้องกินอาหารเพื่อป้องกันอาการท้องอืด

เกรทเดนกับความเสี่ยงโรคกระเพาะบิด

เกิดจากการที่ภายในกระเพาะขยายตัวเนื่องจากแก๊สจากนั้นอาจเกิดการบิดของกระเพาะจากการเคลื่อนไหว จะทำให้น้องหมาช็อคและเสียชีวิตได้ทันที โรคนี้มักเกิดในสายพันธุ์ใหญ่ ที่มีช่องอกลึก ซึ่งเกรทเดนมีเสี่ยงที่จะมีอาการนี้ได้ การให้อาหารน้องวันละครั้งหรือให้น้องกินอาหารก่อนและหลังออกกำลังกายทันทียิ่งเพิ่มความเสี่ยง ปัจจุบันมีการผ่าตัดที่ช่วยป้องกันโรคนี้ได้โดยเย็บกระเพาะติดกับผนังช่องท้องทำให้ไม่เกิดการบิด

สุขภาพของเกรทเดน

เจ้าเกรทเดนปกติจะมีสุขภาพที่แข็งแรงดี แต่ก็อาจจะมีปัญหาสุขภาพได้ โรคที่มักเกิดกับเกรทเดน ได้แก่

  1. ปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโต : Development Issues 
  2. โรคข้อสะโพกเสื่อม : Hip Dysplasia
  3. กระเพาะบิด : Gastric Torsion 
  4. มะเร็งกระดูก : Bone Cancer
  5. โรคหัวใจ : Heart Disease 

ทั้งนี้ถ้าเราจะซื้อลูกสุนัขเกรทเดนมาเลี้ยง ควรหาฟาร์มหรือผู้เพาะพันธุ์ที่ดี ที่มีใบตรวจสุขภาพของพ่อแม่สุนัขด้วย เพื่อเป็นหลักฐานว่าสุนัขได้รับการตรวจและไม่มีปัญหาสุขภาพ

เกรทเดนกับเด็กและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

เกรทเดนมีความอ่อนโยนและรักเด็กๆ โดยเฉพาะถ้าน้องเติบโตมาด้วยกันตั้งแต่เป็นลูกสุนัข แต่เพราะขนาดตัวที่ใหญ่ของน้องบางทีอาจจะชนเด็กล้มได้โดยที่น้องไม่ได้ตั้งใจ เจ้าเกรทเดนสามารถเข้ากับสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆในบ้านได้ แต่บางครั้งน้องอาจแสดงความก้าวร้าวใส่สุนัขตัวอื่นที่ไม่รู้จักหรือไม่สนใจสัตว์ตัวอื่นๆเลย ขึ้นอยู่กับนิสัยของเกรทเดนแต่ละตัว บางตัวก็เข้ากับสัตว์เลี้ยงในบ้านไม่ได้ ในขณะที่บางตัวก็นอนกลิ้งหลับไปกับแมวและสุนัขตัวอื่นๆได้

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Show Buttons
Hide Buttons