ฮอกไกโด

ฮอกไกโด (Hokkaido) – ข้อมูลสายพันธ์ุ, ลักษณะนิสัย, วิธีการเลี้ยงดู

ถ้าพูดถึงสุนัขสายพันธุ์ญี่ปุ่น “น้องหมาพันธุ์ฮอกไกโด” คงเป็นชื่อที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูนัก แต่น้องถือเป็นน้องหมาสายพันธุ์โบราณและเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของสุนัขทุกพันธุ์ของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ในสมัยก่อนนั้นน้องถูกใช้ในการล่าสัตว์ และได้ร่วมทำภารกิจค้นหาและช่วยเหลือผู้คน น้องมีขนสองชั้นที่หนาทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางอากาศหนาวได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันน้องกลายเป็นสัตว์เลี้ยงของครอบครัว ด้วยนิสัยที่ซื่อสัตย์ น่ารัก และพร้อมจะปกป้องเจ้าของ วันนี้ Nongpets จะพาไปรู้จักต้นกำเนิด และวิธีการเลี้ยงดูน้องที่ถูกต้องเพื่อให้น้องอยู่อย่างสุขภาพดี

ประวัติความเป็นมาของสุนัขฮอกไกโด

 น้องหมาพันธุ์ฮอกไกโดถูกรู้จักเป็นครั้งแรกในชื่อ ไอนุ (Ainu Dog) และถูกตั้งชื่อตามแหล่งกำเนิดในภายหลัง โดยนักสัตววิทยาชาวอังกฤษ ชื่อ Thomas Blankiston ได้ตั้งชื่อสายพันธุ์ว่าฮอกไกโด ในปี 1869 

ในยุคคามาคุระ เจ้าหมาได้เดินทางไปยังเกาะฮอกไกโดพร้อมกับชาวไอนุ หลังจากถูกผลักดันให้ไปทางเหนือโดยชาวยาโยอิจากคาบสมุทรเกาหลี การอพยพข้ามน้ำทะเลของชาวไอนุไปยังเกาะฮอกไกโด ทำให้สายพันธุ์สุนัขถูกแยกออกมาด้วย ดังนั้นน้องหมาจึงไม่มีการผสมข้ามสายพันธุ์กับสุนัขพันธุ์อื่นๆเลย ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเชื่อว่าน้องหมาพันธุ์ฮอกไกโดเป็นสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่ยังคงมีชีวิตอยู่และเป็นบรรพบุรุษของสุนัขสายพันธุ์ในญี่ปุ่นทั้งหมด

มีผู้เชื่อว่าน้องหมาสืบทอดพันธุกรรมมาจากสุนัขสายพันธุ์โบราณที่มาถึงประเทศญี่ปุ่นในยุคโจมน ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าน้องหมาพันธุ์ฮอกไกโดมี DNA เดียวกันกับสุนัขพันธุ์ Ryukyu Ken ที่อยู่บนเกาะโอกินาว่าและถูกพูดถึงว่าสืบทอดพันธุกรรมมาจากสุนัขในยุคโจมนเช่นเดียวกัน 

ชาวไอนุจะใช้น้องในการล่า รวมทั้งล่าหมีและกวางภูเขาด้วย เป็นที่รู้กันดีว่าน้องมีความกล้าหาญและอดทนมากในตอนที่ออกล่า น้องมีความสามารถในการตัดสินใจที่ถูกต้องแม่นยำ มีความสามารถในการดมกลิ่นและรู้ทิศทางโดยกำเนิด และจะใช้สัญญาณอย่างการหอน หรือเห่า นอกจากนี้น้องยังสามารถทนทานต่ออากาศหนาว ทำให้สามารถออกล่าหมีหรือหมูป่าในช่วงดูหนาวได้อีกด้วย

ในปี 1902 น้องเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมภารกิจค้นหาคณะเดินทางที่ติดอยู่ท่ามกลางหิมะในภูเขาฮอกไกโด ต่อมาในปี 1937 กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นได้ประกาศให้สุนัขพันธุ์ฮอกไกโดเป็นสายพันธุ์หายากและมีกฎหมายคุ้มครอง น้องจะพบเห็นได้ยากนอกประเทศญี่ปุ่น และมีจำนวนประชากรของน้องฮอกไกโดในญี่ปุ่นประมาณ 10,000 – 12,000 ตัว ในญี่ปุ่น ในปัจจุบันยังมีจำนวนน้อยที่ยังถูกใช้เพื่อการล่าอยู่ ส่วนมากจะใช้น้องเป็นสุนัขเฝ้าบ้านและเป็นอีกหนึ่งสมาชิกของครอบครัว

ลักษณะของสุนัขฮอกไกโด

ลักษณะทางกายภาพ

  • ความสูง : เพศผู้ 48 – 52  เซนติเมตร เพศเมีย 46 – 48 เซนติเมตร
  • น้ำหนัก : 20 – 30  กิโลกรัม
  • สายพันธุ์ : สุนัขใช้งาน
  • ขน :  มีขน 2 ชั้น  ขนชั้นในหนาแน่นและนุ่ม ขนชั้นนอกกระด้างและตรง
  • สีขน : มีหลายสี เช่น สีขาว,สีดำ, สีแดง, สีดำกับสีแทน, สีเมล็ดงา(สีน้ำตาลแกมเหลืองอ่อนปลายขนเป็นสีดำ) หรือ มีลาย 
  • ลักษณะเด่น: มีกระดูกและกล้ามเนื้อที่แข็งแรงสามารถทนทานต่อหิมะที่ตกหนักและอากาศหนาว  น้องมีดวงตาเล็กรูปทรงเมล็ดอัลมอนด์ ปากและจมูกมีสีเข้ม หูแหลม หางโค้งงอติดอยู่ด้านบนของหลังสุนัขหรือมีรูปทรงคล้ายรูปเคียว
  • ช่วงชีวิต: 11 -13 ปี

นิสัยและพฤติกรรมทั่วไป

น้องเป็นสุนัขใช้งาน เป็นที่รู้จักว่ามีความซื่อสัตย์, กล้าหาญ และมีสัญชาตญาณของการปกป้อง เป็นสุนัขที่อุทิศชีวิตตัวเองให้เจ้าของ ผูกพันกับเจ้าของมาก น้องแข็งแรง, ตื่นตัว แต่ก็มีความอ่อนโยน ขี้เล่นและชอบทำให้เจ้าของพึงพอใจ

ในอดีตน้องถูกใช้ในการล่าและน้องมักจะส่งเสียงดังในเวลาที่ออกล่า ปกติน้องจะไม่ค่อยเห่าเวลาที่อยู่ในบ้านแต่ในเวลาที่น้องตื่นเต้นหรือมีความสุขก็มักจะหอน เพราะความเป็นสุนัขที่ว่าง่ายและซื่อสัตย์ทำให้น้องกลายเป็นอีกหนึ่งสมาชิกที่น่ารักในครอบครัว น้องจะปกป้องคนในครอบครัวเป็นอย่างมาก น้องจะมีความตื่นตัวและระมัดระวังอยู่เสมอ ไม่กลัวการเผชิญหน้า และจะเห่าเสียงดังถ้าเห็นคนแปลกหน้า  จึงทำให้น้องเป็นสุนัขเฝ้าบ้านหรือสุนัขอารักขาที่ยอดเยี่ยม

วิธีการเลี้ยงและดูแลสุนัขฮอกไกโด

  • น้องมีขนที่หนา เราจึงควรแปรงขนให้น้องอาทิตย์ละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อไม่ให้เส้นขนพันกันและกำจัดขนที่ตายแล้ว ถ้าช่วงที่น้องผลัดขนควรเพิ่มเป็นวันละ 1 – 2 ครั้ง  และควรซื้อแปรงหวีขนที่มีคุณภาพที่สามารถหวีได้ถึงขนชั้นใน
  • น้องไม่ค่อยชอบอาบน้ำสักเท่าไหร่ และต้องใช้เวลานานกว่าขนจะแห้งเพราะขนน้องหนา ดังนั้นการอาบน้ำที่แนะนำ คือ  2 – 3 ครั้งต่อปี 
  • เมื่อเปรียบเทียบกับสุนัขของญี่ปุ่นพันธุ์อื่นๆ เจ้าฮอกไกโดมีขนที่ยาวกว่าและหนากว่า ทำให้น้องมีความทนทานต่อสภาพอากาศที่หนาวเย็นได้ดี
  • น้องต้องการการออกกำลังกายทุกวัน ประมาณ 30 – 60 นาทีน้องชอบเดินทางไกลและวิ่งจ็อกกิ้ง และจะชอบมากถ้าเราพาน้องออกไปข้างนอก แต่ถ้าเราเลี้ยงให้น้องอยู่ในบ้าน เราก็ควรมีเวลาเล่นกับน้อง ให้น้องได้เคลื่อนไหวอยู่เสมอเพื่อป้องกันพฤติกรรมทำลายข้าวของ
  • ถึงแม้น้องจะเป็นสุนัขที่สะอาดและไม่คอยมีกลิ่น แต่น้องไม่เหมาะกับการเลี้ยงอยู่ในอพาร์ทเมนต์ เพราะว่าน้องต้องการการออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากนี้น้องเป็นสุนัขที่มีพลังสูงและกระฉับกระเฉง น้องจึงต้องการสนามหญ้าขนาดใหญ่เพื่อเอาไว้วิ่ง, เล่น และออกกำลังกาย ยิ่งถ้าเราอาศัยอยู่ใกล้กับป่าน้องก็ยิ่งสนุกกับการล่าและสำรวจพื้นที่ป่า
  • น้องต้องการการขัดเกลาทางสังคมตั้งแต่อายุยังน้อย และควรถูกฝึกให้เชื่อฟังคำสั่ง ถ้าน้องไม่ได้รับการฝึกใดๆเลย น้องอาจจะวิ่งไล่สัตว์เลี้ยงร่วมบ้าน หรือกัดกับสุนัขตัวอื่นๆ โดยเฉพาะสุนัขเพศเดียวกัน
  • บางครั้งที่น้องอยากจะเล่นกับสุนัขตัวอื่น ท่าทางของน้องอาจจะทำให้เข้าใจผิดคิดว่าน้องจะจู่โจมได้ เช่น น้องอาจจะกระโดดหรือหมอบ และอาจจะส่งเสียงเห่าหรือหอนออกมา 
  • ด้วยนิสัยขี้สงสัย น้องจะเดินรอบๆหรือปีนกำแพงเพื่อจะได้ไปสำรวจ ทำให้น้องมีฉายาว่า นักหนีออกจากบ้านตัวยง แต่ยังดีที่ความฉลาดของน้องทำให้น้องหาทางกลับบ้านได้ถูกไม่ว่าน้องจะหนีไปไกลแค่ไหน น้องจะกลับมาหาเจ้าของตลอด เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าน้องมีความจงรักภักดีต่อเจ้าของแค่ไหน

อาหารของสุนัขฮอกไกโด

น้องฮอกไกโดเป็นสุนัขใช้งานที่มีความกระตือรือร้น น้องจึงต้องการอาหารแห้งที่มีคุณภาพ โดยมีปริมาณไขมัน 20% และโปรตีน 30% และต้องมีน้ำสะอาดเตรียมไว้ให้น้องด้วย  เราสามารถแบ่งเวลาการให้อาหารเป็น 2 มื้อ คือตอนเช้าและตอนเย็น แต่จะดีกว่าถ้าเราสามารถให้อาหารน้องได้ 3 มื้อ

สุขภาพของสุนัขฮอกไกโด

โดยปกติแล้วน้องฮอกไกโดมีสุขภาพที่แข็งแรงมากๆ แต่ก็ยังมีโอกาสจะเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรดูแลน้องให้ดีและพาไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์บ่อยๆ 

โรคที่พบได้บ่อยในสายพันธุ์ฮอกไกโด ได้แก่

  1. Collie eye anomaly : โรคความผิดปกติของตา.Hip dysplasia : โรคข้อสะโพกเสื่อม
  2. Luxating patella : โรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัข
  3. Heart murmurs : โรคเสียงหัวใจผิดปกติในสุนัข
  4. Idiopathic seizures : โรคลมชัก
  5. Anxiety : อาการกระวนกระวายในสุนัข
  6. Psychogenic polydipsia : การดื่มน้ำมากผิดปกติ
  7. Pica : ภาวะที่สุนัขชอบกินของที่ไม่ใช่อาหาร

สุนัขฮอกไกโดกับเด็กและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

น้องสามารถเข้ากับเด็กๆได้ดี โดยเฉพาะเด็กที่เติบโตมาพร้อมๆกับน้อง แต่พ่อแม่ก็ต้องสอนเด็กให้เข้าหาน้องอย่างถูกวิธีด้วย น้องหมาควรฝึกเข้าสังคมตั้งแต่เป็นลูกสุนัขเพื่อจะได้รู้วิธีปฏิบัติตัวเวลาอยู่กับสัตว์ตัวอื่น ถ้าเราเลี้ยงสัตว์เล็กๆอย่าง แฮมสเตอร์, หนูตะเภา หรือนก อย่าปล่อยให้อยู่กับน้องตามลำพัง เพราะสัตว์เหล่านี้จะไปกระตุ้นสัญชาตญาณในการล่าของน้อง แต่อย่างไรก็ตามน้องสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับแมวได้ โดยเฉพาะแมวที่เลี้ยงมากับน้อง

บางครั้งน้องจะแสดงความก้าวร้าวต่อสุนัขที่น้องไม่รู้จัก น้องเป็นสัตว์ที่หวงเขตพื้นที่ของตัวเอง และจะเคารพแค่สิ่งที่น้องคิดว่าอยู่ลำดับชั้นสูงกว่า น้องจะไม่ทนต่อการถูกทำร้ายจากสุนัขตัวอื่นที่น้องคิดว่าอยู่ในลำดับต่ำกว่าตัวเอง และจะแสดงความดุร้ายเพื่อแสดงอำนาจที่เหนือกว่าของน้อง

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Show Buttons
Hide Buttons