อะกิตะ

อะกิตะ (Akita Inu, Japanese Akita) – ข้อมูลสายพันธ์ุ, ลักษณะนิสัย, วิธีการเลี้ยงดู

เชื่อว่าเหล่าคนรักหมาจะต้องรู้จักเจ้า “ฮาชิโกะ” สุนัขสายพันธุ์ “อะกิตะ หรือ อะกิตะ อินุ” ที่โด่งดังไปทั่วโลกจากความซื่อสัตย์และจงรักภักดีอย่างที่สุดของน้อง ที่ไปนั่งรอเจ้าของที่สถานีรถไฟกว่า 10 ปีจนสิ้นอายุขัย

เราจะพามาทำความรู้จักกับเจ้า “อะกิตะ อินุ” ว่ามีความเป็นมายังไง นิสัยเป็นแบบไหน สามารถเข้ากับเราได้ไหม ตลอดไปจนถึงเรื่องสุขภาพของน้องอะกิตะ

ประวัติความเป็นมาของอะกิตะ

เจ้าอะกิตะมีต้นกำเนิดในทางเหนือของประเทศญี่ปุ่น โดยชื่อ “อะกิตะ อินุ” ตั้งมาจากแหล่งกำเนิด นั่นก็คือ เมืองโอดะเตะ จังหวัดอะกิตะ บนเกาะฮอนชู แต่เดิมน้องถูกเรียกว่า “โอดะเตะ” หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนมาเป็น “อะกิตะ” และสายพันธุ์นี้กลายเป็นอนุสรณ์ทางธรรมชาติและสมบัติประจำชาติของญี่ปุ่น ในปี 1931 และกลายเป็นสุนัขประจำชาติของญี่ปุ่นในเวลาต่อมา 

นักโบราณคดียังพบหลักฐานที่บ่งชี้ถึงสุนัขที่มีขนาดตัวและโครงสร้างเหมือนกับอะกิตะ โดยพวกมันมีชีวิตอยู่เมื่อหลายพันปีมาแล้ว การสำรวจอื่นๆในพื้นที่เมืองอะกิตะในช่วงปี 8000 – 200 ก่อนคริสศักราชต์ ทำให้เห็นว่าผู้คนสมัยนั้นจะรวมตัวกันออกล่าและจับปลา สุนัขในยุคนั้นจะเรียกว่า “มาทากิ อินุ” ซึ่งแปลว่า “หมานักล่า”   

ในปี 1800 เริ่มมีการค้าขายกันมากขึ้น ชาวยุโรปนำสุนัขสายพันธุ์ยุโรปเข้ามาเป็นจำนวนมาก สุนัขเหล่านั้นได้ผสมกับสายพันธุ์มาทากิ อินุ และถูกนำไปผสมข้ามสายพันธุ์กับสุนัขขนยาวพันธุ์ “คาราฟุโตะ” ที่มาจากทางใต้ของเกาะซาฮาลิน เจ้าอะกิตะขนยาวในปัจจุบันนี้เชื่อว่าเป็นทายาทสายตรงของสุนัขพันธุ์นี้ แต่น่าเสียดายเมื่อเจ้าอะกิตะถูกนำไปผสมกับสุนัขสายพันธุ์ต่อสู้แสนดุร้าย นั่นก็คือสายพันธุ์ “โทสะ อินุ”  เพื่อจะให้เกิดเป็นสุนัขที่มีความสามารถในการต่อสู้เป็นพิเศษ ดังนั้นการรวมกันของสายพันธุ์ มาทากิ อินุกับสุนัขสายพันธุ์ยุโรป, โทสะ อินุและคาราฟุโตะ ผลลัพธ์ที่ได้จึงออกมาเป็น อะกิตะ อินุ

ในปี 1907 ญี่ปุ่นแบนกีฬาล่าสัตว์รวมไปถึงการต่อสู้ของสุนัขด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเกือบจะสิ้นสุดของสายพันธุ์อะกิตะ เหล่าเจ้าของของสุนัขต่อสู้เหล่านี้เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องเลี้ยงอีกต่อไป จึงปล่อยพวกมันหรือบางส่วนก็ตายอย่างทรมานจากการการถูกละเลยและทอดทิ้ง โรคพิษสุนัขบ้าเกิดขึ้นอย่างฉับพลันในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชากรอะกิตะ  การมีใบอนุญาตเลี้ยงสุนัขยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลงไปอีก เพราะชาวบ้านที่ยากจนไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายค่าธรรมเนียม พวกเขาจึงปล่อยสุนัขไป ในช่วง 20 ปีต่อมา สุนัขจรจัดถูกกำจัดเป็นจำนวนมากและเรื่องราวของเจ้าอะกิตะก็เริ่มสูญหายไป

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาหารขาดแคลนเป็นอย่างมากและหลายๆคนที่เลี้ยงอะกิตะไม่สามารถหาอาหารมาเลี้ยงเจ้าอะกิตะต่อไปได้ แมวและหมากลายมาเป็นแหล่งอาหารและขนของพวกมันถูกนำไปใช้ในกองทัพ ฝ่ายตำรวจก็สั่งให้ฆ่าสุนัขทิ้งทั้งหมด มีเพียงสุนัขเฝ้ายามพันธุ์เยอรมัน เชพเพิร์ด ที่ถูกยกเว้น ดังนั้นคนเลี้ยงอะกิตะหลายๆคนจึงนำอะกิตะไปซ่อนในหมู่บ้านบนภูเขาที่ห่างไกล ในช่วงนั้นเจ้าอะกิตะแทบจะสูญพันธุ์

ก่อนจะมีสงคราม น้อยครั้งที่เจ้าอะกิตะจะถูกส่งออกไปเพราะจะถูกส่งไปในฐานะของขวัญให้บุคคลสำคัญเท่านั้น หลังสงครามทหารช่างชาวอเมริกันได้นำเจ้าอะกิตะกลับไปที่อเมริกาด้วย ทำให้ความนิยมและความต้องการเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนั้นจึงเกิดการเพาะพันธุ์สุนัขอะกิตะพุ่งสูงขึ้นในญี่ปุ่น และเกิดลูกสุนัขมากมาย  ดังนั้นประชากรอะกิตะจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ลักษณะของอะกิตะ

ลักษณะทางกายภาพ

  • ความสูง : เพศผู้ 66 – 71 เซนติเมตร เพศเมีย 60 – 66 เซนติเมตร
  • น้ำหนัก : เพศผู้ 45 – 59  กิโลกรัม เพศเมีย 32- 45 กิโลกรัม
  • สายพันธุ์ : สุนัขใช้งาน
  • ขน : มีขนสองชั้น ขนชั้นในหนา, นุ่มและแน่น ขนชั้นนอกตรง, กระด้างและชี้ฟู
  • สีขน : มีหลายสีและสีผสมรวมถึงมีลาย  เช่น ดำ, ขาว, ช็อคโกแล็ต
  • ลักษณะเด่น : มีโครงร่างใหญ่ ศีรษะกว้างและใหญ่ถูกทำให้มีความสมดุลกับหางที่มีขนฟู รูปร่างโค้งขึ้น  มีดวงตาเล็กและหูตั้งสีเข้ม
  • ช่วงชีวิต: 10 -13 ปี

นิสัยและพฤติกรรมทั่วไป

น้องอะกิตะเป็นหมาตัวใหญ่, พลังงานสูง, มีความตื่นตัว น้องอะกิตะเป็นสุนัขที่เงียบ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ขี้กลัว จะคอยระมัดระวังคนแปลกหน้า และอยู่กับสุนัขตัวอื่นไม่ค่อยได้โดยเฉพาะเพศเดียวกัน น้องจะเผยนิสัยมึนๆหรือน่ารักขี้ประจบแค่กับครอบครัวและเพื่อนเท่านั้น น้องมีความกล้าหาญ ซื่อสัตย์และจะปกป้องคนที่น้องรักอย่างมาก

วิธีการเลี้ยงและดูแลอะกิตะ

  • เจ้าอะกิตะจะมีความสุขเมื่อได้อยู่ในบ้านกับครอบครัว  น้องไม่ได้กระตือรือร้นอะไรมากแต่ก็ต้องการการออกกำลังกายทุกวัน วันละ 30 นาที – 1 ชั่วโมง ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว การเดินเร็ว, วิ่งจ็อกกิ้ง หรือวิ่งเล่นในสวนเป็นกิจกรรมที่น้องโปรดปราน แต่ไม่ควรพาน้องไปเดินสวนสาธารณะที่มีสุนัขอยู่เยอะๆ เพราะน้องอาจจะทำร้ายสุนัขตัวอื่นที่อ่อนแอกว่าได้
  • น้องอะกิตะค่อนข้างสะอาดและไม่ค่อยมีกลิ่น แต่น้องมีขนที่หนาดังนั้นควรแปรงขนให้อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ปกติน้องจะขนร่วงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะน้องจะผลัดขนปีละ 2 ครั้ง
  • น้องเป็นหมาที่ฉลาด ควรให้น้องได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย เพราะถ้าน้องเบื่อก็จะเริ่มแสดงออกทางพฤติกรรมต่างๆ เช่น การเห่า, ขุด, กัดสิ่งของ และก้าวร้าว ดังนั้นควรให้น้องได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับครอบครัวและไม่ทิ้งน้องไว้ตัวเดียวเป็นเวลานานๆ
  • รั้วบ้านที่แน่นหนาเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อความปลอดภัยของน้องและคนแปลกหน้า  น้องจะไม่ก้าวร้าวถ้ามีคนมาที่บ้านในตอนที่เราอยู่ด้วย แต่ถ้าตอนที่เราไม่อยู่บ้าน ความเป็นที่ผู้ดูแลที่ซื่อสัตย์ของอิตะ  น้องจะปกป้องทุกอย่างที่น้องเห็นว่าเป็นภัยอันตราย
  • ตอนน้องเป็นลูกสุนัขเราต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะน้องโตเร็วมากในช่วง 4 – 7 เดือน อย่าให้น้องวิ่งเล่นหรือกระโดดบนพื้นแข็ง เช่น พื้นหิน,กระเบื้อง เพราะอาจทำให้เกิดความผิดปกติของกระดูก จนกว่าน้องจะมีอายุอย่างน้อย 2 ปีและข้อต่อพัฒนาเต็มที่แล้ว  
  • อาหารของอะกิตะ

ถึงแม้เจ้าอะกิตะจะตัวโตแต่น้องไม่ได้กินเยอะตามขนาดตัว หลายๆที่เพาะพันธุ์อะกิตะให้อาหารเพียงแค่ 1 มื้อต่อวัน และให้อดอาหารอาทิตย์ละครั้ง เพราะว่าในธรรมชาติ หมาป่า (เป็นต้นกำเนิดที่ใกล้เคียงที่สุดของสายพันธุ์อะกิตะ) ไม่ได้กินอาหารทุกวัน และจะปล่อยให้ตัวเองหิวโหยประมาณ 1 หรือ 2 วัน เพื่อให้ระบบย่อยอาหารได้หยุดพัก

เราไม่ควรปล่อยให้อะกิตะวัยโตและวัยชราอ้วนเกินไป ถ้าเราให้น้องกินอาหารสุนัขสำเร็จรูป อย่างน้อยก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบหลัก เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อต่อมไทรอยด์ของน้องได้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีผสมอาหารและใช้สารกันบูดเพราะจะทำให้เกิดภูมิแพ้ผิวหนังและโรคมะเร็งได้ ถ้าให้อาหารเม็ด ควรเอาไปแช่น้ำให้มันขยายก่อนจะให้น้องกิน เพราะน้องสามารถเกิดแก๊สในกระเพาะและปวดท้อง

ในญี่ปุ่น อาหารหลักของน้องคือข้าว, ปลา และพืชทะเล และยังมีหนังสือที่เกี่ยวกับการทำอาหารแบบ home – cooked ให้น้องหมาอยู่มากมาย บางทีก็ผสมเศษอาหารของมนุษย์ให้น้องกินด้วยได้ แต่ไม่ควรให้กินเป็นอาหารหลัก

อย่างไรก็ตาม การให้น้องกินอาหารของมนุษย์ที่ถูกจัดเตรียมอย่างถูกต้องและมีสัดส่วนที่สมดุลเริ่มได้รับความนิยมในการเลี้ยงดูน้องอะกิตะ แต่เราต้องปรึกษากับสัตวแพทย์ทุกครั้งก่อนการเปลี่ยนอาหารให้น้องกิน น้องอะกิตะสามารถกินอาหารแบบปรุงสุกสลับกับอาหารธรรมชาติทั่วไปได้ เช่น กระดูกติดเนื้อ, ไข่, ปลา, เนื้อสัตว์ปีก,ผลไม้ และผัก โดยสามารถใส่น้ำมันจากธรรมชาติและวิตามินเพิ่มได้ 

เจ้าอะกิตะควรได้กินอาหารที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารที่เจ้าของทำเอง อาหารนั้นควรผ่านการดูแลและตรวจสอบจากสัตวแพทย์ การให้อาหารควรจะเหมาะสมกับช่วงวัยของสุนัขด้วย ผู้เชี่ยวชาญบางคนแนะนำว่าเจ้าอะกิตะอายุตั้งแต่ 7 ปี ขึ้นไป ควรจะกินอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ เพื่อป้องกันการเกิดโรคไต

เจ้าหมาบางตัวมีแนวโน้มว่าจะมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ได้ ดังนั้นเราควรดูแลแคลอรี่ที่น้องได้รับและน้ำหนักตัวอยู่เสมอ ขนมหมาที่เราให้เป็นรางวัลตอนฝึกน้องก็เช่นกัน เราไม่ควรให้เยอะจนเกินไปเพราะจะทำให้น้องอ้วน

และควรมีน้ำสะอาดตั้งไว้ให้น้องได้กินทั้งวัน และ น้องอะกิตะบางตัวจะหวงอาหารของตัวเอง ดังนั้นจานข้าวหรือขนมของน้อง ควรวางให้ห่างจากสุนัขตัวอื่นหรือเด็ก 

สุขภาพของอะกิตะ

เจ้าอะกิตะปกติจะสุขภาพดีอยู่แล้ว แต่ก็มีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคต่างๆ ดังนี้ 

  1. โรคข้อสะโพกเสื่อม : Hip dysplasia 
  2. โรคกระเพาะอาหารบิด : Gastric dilatation-volvulus
  3. โรคไทรอยด์ในสุนัข : Hypothyroidism 
  4. โรคจอประสาทตาเสื่อม : Progressive retinal atrophy (PRA) 
  5. โรคผิวหนังที่มีความผิดปกติบริเวณต่อมน้ำมันใต้รูขุมขน : Sebaceous adenitis (SA) 

อะกิตะกับเด็กและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

ผู้ปกครองควรอยู่ดูแลเมื่อเด็กอยู่กับน้องหมา โดยเฉพาะกับเจ้าอะกิตะ น้องเป็นทั้งบอดี้การ์ดแสนซื่อสัตย์และเพื่อนเล่นที่ดี แต่อะกิตะที่ถูกรังแกอาจทำร้ายเด็กและเป็นอันตรายถึงขั้นชีวิตได้ ผู้ใหญ่จึงควรสอนเด็กให้เล่นกับเจ้าหมาอย่างอ่อนโยน  ดังนั้นอะกิตะจึงเหมาะสำหรับครอบครัวที่มีเด็กโต และควรจะเลี้ยงน้องเพียงตัวเดียว เพราะน้องอาจจะแสดงความก้าวร้าวใส่สุนัขตัวอื่นๆในบ้านหรืออาจจะไล่กัดสัตว์เลี้ยงตัวอื่นได้ ถ้าน้องไม่ได้ถูกฝึกสอนมา

ความแตกต่างระหว่างชิบะอินุและอะกิตะอินุ

 ชิบะอินุ และ อะกิตะอินุ ลักษณะรูปร่างค่อนข้างจะคล้ายกัน แต่ก็มีสิ่งที่แตกต่างกันอยู่ เช่น

  • เจ้าอะกิตะมีขนาดตัวและโครงร่างที่ใหญ่กว่ามีน้ำหนักประมาณ 49 กิโลกรัม สูงประมาณ 71 เซนติเมตร ส่วนเจ้าชิบะมีตัวที่เล็กกว่า หนักประมาณ 12 กิโลกรัม สูงประมาณ 40 เซนติเมตร
  • เจ้าอะกิตะโดยธรรมชาติแล้วจะไม่เป็นมิตรกับแมว, เด็ก,คนแปลกหน้า และสุนัขตัวอื่น ในขณะที่เจ้าชิบะจะอดทนและใจกว้างกว่าเล็กน้อย
  • อะกิตะจะมีความอ่อนไหว ไม่ชอบถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพัง ในขณะที่เจ้าชิบะไม่ค่อยอ่อนไหว แม้เจ้าของจะออกไปทำงานและทิ้งให้อยู่ตัวเดียว น้องก็สามารถอยู่ได้
  • เจ้าชิบะเหมาะกับการเลี้ยงอยู่ในอพาร์ทเมนท์มากกว่าอะกิตะ ทั้งในเรื่องของการปรับตัวและพื้นที่ ถึงแม้น้องอะกิตะจะสามารถปรับตัวอยู่ในอพาร์ทเมนท์ได้แต่น้องจะเติบโตได้ดีกว่าถ้ามีพื้นที่ให้วิ่งและเดินเพียงพอ

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Show Buttons
Hide Buttons